แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 30, 2013 17:00 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 39/2556

เศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม 2556 ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ลดลงจากการซื้อรถยนต์และสินค้าคงทนอื่น ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังเปราะบางและข้อจำกัดด้านวัตถุดิบของไทย ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวตาม อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อชะลอลง อัตราการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการนำเข้าทองคำและการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศเป็นสำคัญ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันการเงิน และดุลการชำระเงินขาดดุล

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอลง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 0.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการซื้อรถยนต์และสินค้าคงทนอื่น ซึ่งเป็นผลจากการส่งมอบรถยนต์ในมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรกที่ทยอยหมดลง รวมทั้งคำสั่งซื้อใหม่มีน้อยลง ขณะเดียวกันครัวเรือนเพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่ายจากภาระหนี้ที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนยังขยายตัวสะท้อนจากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ปริมาณการใช้เชื้อเพลิง และปริมาณ การใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

การส่งออกสินค้าลดลงจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลงและปัญหาด้านอุปทานจากการขาดแคลนกุ้งเนื่องจากประสบปัญหาโรคระบาด ส่งผลให้การส่งออกมีมูลค่า 18,804 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 1.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการหดตัวของการส่งออกสินค้าเกษตร ประมง และอุตสาหกรรมโดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ การส่งออกยานยนต์ลดลงจากผลกระทบของปัญหาความไม่สงบในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่ลดลงส่งผลให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวตาม โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 4.5 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามการลดลงของ 1) การผลิตยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศชะลอลง 2) การผลิตอาหารทะเลแปรรูปจากปัญหาการขาดแคลนกุ้ง และ 3) การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ผู้บริโภคเปลี่ยนความนิยมไปใช้ Tablet และ Smartphone มากขึ้น ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 5.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์โดยเฉพาะของอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก ประกอบกับเป็นผลของฐานสูงในปีก่อนที่ผู้ประกอบการเร่งลงทุนเพื่อทดแทนความเสียหายจากมหาอุทกภัย อย่างไรก็ดี การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวตามการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชยกรรมที่เพิ่มขึ้น

การส่งออกสินค้า การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลง ส่งผลให้การนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์และการนำเข้าสินค้าทุนลดลง ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคยังขยายตัวได้โดยการนำเข้ามีมูลค่า 18,546 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 0.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักการนำเข้าทองคำ การนำเข้ามีมูลค่า 17,137 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 4.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน

รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 1.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามผลผลิตที่หดตัวร้อยละ 2.7 จากการลดลงของผลผลิตข้าวเนื่องจากปริมาณน้ำไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกข้าว และปัญหาโรคระบาดในกุ้งส่วนราคาสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามราคากุ้งที่ผลผลิตลดลง ราคาปศุสัตว์จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และราคามันสำปะหลังที่มีความต้องการใช้เพื่อผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นอย่างไรก็ดี ราคายางพาราลดลงตามคำสั่งซื้อจากจีนที่ยังชะลอตัว ขณะที่ราคาข้าวต่ำลงตามอุปสงค์ต่างประเทศ ที่ลดลง

สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 2.2 ล้านคน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 22.5 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย และรัสเซียเป็นสำคัญภาครัฐ รายจ่ายค่าจ้างเงินเดือนและรายจ่ายลงทุนเพื่องานด้านชลประทานและคมนาคมเพิ่มขึ้นส่วนรายได้ขยายตัวตามการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แม้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตจากรถยนต์ลดลง รายจ่ายที่มากกว่ารายได้ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 41.9 พันล้านบาท

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 2 ตามการชะลอตัวของราคาอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อัตราการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการนำเข้าทองคำ และการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะจากธุรกิจยานยนต์ที่ผลประกอบการค่อนข้างสูงประกอบกับค่าเงินเยนอ่อนลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันการเงิน ส่วนดุลการชำระเงินขาดดุล

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ