FAQ Issue 82: หนี้ภาคครัวเรือนนั้นสำคัญไฉน?

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 9, 2013 11:52 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 82

หนี้ภาคครัวเรือนนั้นสำคัญไฉน?

พสิษฐ์ โชติวัฒนะกุล และ ชลิดา แท่งเพ็ชร

บทคัดย่อ

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หนี้ภาคครัวเรือนของไทยเร่งตัวขึ้นมากจากในอดีต ส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมามีปัจจัยที่สนับสนุนให้ครัวเรือนมีความต้องการก่อหนี้เพิ่มขึ้น อาทิ 1) อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ 2) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และ 3) การแข่งขันปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งการขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีสภาพคล่องลดลงและมีภาระในการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามภาวะการก่อหนี้และภาระในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากเศรษฐกิจชะลอตัวลงและกระทบกับรายได้ภาคครัวเรือน อีกทั้ง การผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นและการบริโภคภาคครัวเรือนที่หดตัวลง ย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซาได้ในที่สุด

บทนำ

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งครอบคลุมสินเชื่อที่ปล่อยให้กับภาคครัวเรือนจากสถาบันการเงินต่างๆ*(1) เร่งตัวขึ้นโดยเฉพาะในระยะหลัง โดยหนี้ภาคครัวเรือนขยายตัวในระดับที่สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนต่อ GDP เร่งขึ้นจากร้อยละ 63.3 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 77.5 ในไตรมาส 1 ปี 2556 ซึ่งหนี้ภาคครัวเรือนมีอัตราการขยายตัว เฉลี่ยถึงร้อยละ 17 ในช่วงปี 2554 — ไตรมาส 1 ปี

หนี้ส่วนใหญ่ปล่อยกู้โดยธนาคารพาณิชย์ถึงร้อยละ 43.0 รองลงมาคือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Special Financial Institutions: SFIs) ที่มีสัดส่วนร้อยละ 30.9 ที่เหลือเป็นของสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ บริษัทเงินทุน บริษัทประกันบริษัทบัตรเครดิต โรงรับจำนำ ฯลฯ ประมาณร้อยละ 26.1 ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีบทบาทในการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น

แม้การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนบางส่วนเป็นผลจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบที่มากขึ้น แต่หากพิจารณาจากภาพรวมของสภาพคล่องของภาคครัวเรือนหรือสัดส่วนสินทรัพย์ทางการเงิน (ประกอบด้วย เงินฝาก หุ้นกู้ ตราสารหนี้ ตราสารทุน และประกันชีวิต) ต่อหนี้สินของภาคครัวเรือนได้ปรับลดลงจากอดีตด้วยเช่นกัน จากระดับ 2.5 เท่าในช่วงปี 2547 - 2553 มาอยู่ที่ระดับ 2.3 เท่าในช่วงปี 2554 — ไตรมาส 1 ปี 2556

จากสถานการณ์การก่อหนี้ที่เร่งตัวสูงขึ้นจากในอดีต ประกอบกับสภาพคล่องของภาคครัวเรือนที่ปรับลดลง จึงนำมาซึ่งคำถามที่ว่าหนี้ภาคครัวเรือนของไทยน่ากังวลมากแค่ไหน บทความนี้ได้ศึกษาทฤษฎีต่างๆ ที่อธิบายถึงสาเหตุการก่อหนี้ของภาคหนี้ครัวเรือน ปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้การขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนเร่งขึ้นมากทั้งกรณีของไทยและต่างประเทศ ระดับของหนี้ภาคครัวเรือนที่เหมาะสมรวมถึงการวิเคราะห์เครื่องชี้วัดต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการประเมินเสถียรภาพของภาคครัวเรือน

1. เหตุใดครัวเรือนจึงเป็นหนี้?

การที่ภาคครัวเรือนต้องมีการพึ่งพาแหล่งเงินกู้ต่างๆ และก่อให้เกิดภาระหนี้สินนั้น สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีต่างๆ ดังนี้

1) การก่อหนี้เพื่อรักษาระดับการบริโภคของ ภาคครัวเรือน (Consumption Smoothing Framework) ตามทฤษฎี Permanent Income Hypothesis (Friedman, 2499) ได้อธิบายไว้ว่าครัวเรือนสามารถกู้ยืมเงินเพื่อรักษาระดับการบริโภค ที่เหมาะสมของตนเองได้ โดยในช่วงเวลาที่ครัวเรือน มีรายได้น้อยและไม่เพียงพอกับรายจ่าย ครัวเรือนจะสามารถกู้ยืม เพื่ออุปโภคบริโภค รวมทั้งการกู้ยืมเพื่อลงทุนและประกอบธุรกิจ อันจะนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และเมื่อระดับรายได้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึงระดับที่เพียงพอและมากกว่ารายจ่าย ครัวเรือนจะสามารถเก็บออมและสะสมความมั่งคั่ง เพื่อไว้ใช้ในยามชราที่ไม่สามารถหารายได้ต่อได้

2) การกู้ยืมของภาคครัวเรือนตามวัฏจักร เศรษฐกิจ (Household debt and business cycle) ในช่วงขาขึ้นของวัฏจักรเศรษฐกิจที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวดี กิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ สามารถดำ เนินไปได้อย่างต่อเนื่องประกอบกับสถาบันการเงินต่างๆ มีความเต็มใจที่จะให้สินเชื่อแก่ภาคเอกชน ทำให้ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

ในขณะที่ช่วงขาลงของวัฏจักรเศรษฐกิจเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลงและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง ส่งผลให้ระดับรายได้ของภาคเอกชนทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับลดลงภาคครัวเรือนจึงมีความต้องการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น

3) การเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial access) ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เมื่อระบบการเงินมีพัฒนาการมากขึ้น ทั้งความหลากหลายของสถาบันการเงินและความสะดวกสบายในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ประกอบกับภาคครัวเรือนมีความรู้ความเข้าใจทางการเงินที่ดีขึ้น จะทำให้ภาคครัวเรือนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้น

2. ปัจจัยที่เอื้อให้ภาคครัวเรือนมีการก่อหนี้เร่งสูงขึ้นในช่วงปี 2554-2555 ที่ผ่านมาจากการศึกษาประสบการณ์ในประเทศต่างๆ พบว่าปัจจัยหรือสาเหตุที่เอื้อให้ภาคครัวเรือนมีการก่อหนี้สูงขึ้นและนำมาซึ่งปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนประกอบด้วย

2.1 ภาวะการเงินที่เอื้อต่อการก่อหนี้

อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานสะท้อนต้นทุนการกู้ยืมที่มีราคาถูก กระตุ้นให้ภาคครัวเรือนมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น อีกทั้งผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่น้อย ทำให้ครัวเรือนหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น อาทิ ตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ดังกล่าวปรับสูงขึ้น เช่น ในกรณีเกาหลีใต้ที่ประสบกับปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2543 — 2545 มากกว่า 2 เท่า ภายในเวลาเพียง 2 ปี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนี้ครัวเรือนปรับขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานานภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินอยู่ที่ระดับร้อยละ 3-5 จากระดับร้อยละ 10-15 ในช่วงก่อนวิกฤติ (BIS Paper, 2009) เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำภายหลังภาวะฟองสบู่ในภาคธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศแตก (Dot-com bubble) ในปี 2543 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (US Federal Reserve: Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 6.5 ในปี 2543 จนเหลือร้อยละ 1 - 2 ในช่วงปลายปี 2544 — 2547 ซึ่งเป็นระยะเวลาค่อนข้างนาน จึงเป็นสาเหตุร่วมสำคัญที่ทำให้หนี้ครัวเรือนของประเทศปรับสูงขึ้น (NBER, 2009)

2.2 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมาตรการของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีส่วนสนับสนุนให้ภาคครัวเรือนก่อหนี้เพิ่มขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกาที่ภาครัฐมีนโยบายให้เงินสนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงก่อน วิกฤติเศรษฐกิจซับไพร์มมีการขยายตัวอย่างมากรวมทั้งสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยมีการขยายตัวสูงขึ้นมาก (NBER, 2009) เช่นเดียวกับกรณีเกาหลีใต้ที่ภาครัฐต้องการกระตุ้นรายจ่ายภาคเอกชนผ่านการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต จึงให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ใช้บัตรเครดิตและเดบิต ส่งผลให้สินเชื่อบัตรเครดิตในช่วงปี 2540-2541 ขยายตัวสูงกว่าช่วงก่อนหน้ามากเกือบ 3 เท่า รวมถึงมาเลเซียที่ภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีรถยนต์ ทำให้ประชาชนมีความต้องการกู้ยืมเพื่อซื้อรถยนต์มากขึ้น และนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้ครัวเรือนมีบ้านเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำ ทำให้หนี้ครัวเรือนเร่งตัวขึ้นมากจากร้อยละ 47 ของ GDP ในปี 2543 เป็นร้อยละ 67 ของ GDP ในปี 2550 (BIS Paper, 2009)

2.3 การแข่งขันในการปล่อยสินเชื่อของ สถาบันการเงินต่างๆ

การที่สถาบันการเงินต่างๆ มีการออกผลิตภัณฑ์ด้านสินเชื่อใหม่ๆ รวมถึงการออกกลยุทธ์ส่งเสริมการขายต่างๆ เพื่อจูงใจให้ภาคครัวเรือนมีความต้องการก่อหนี้เพิ่มขึ้น อาจมีส่วนทำ ให้ภาคครัวเรือนมีการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น เช่น ประเทศเกาหลีใต้ที่ธนาคารพาณิชย์มีการให้สินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น เนื่องจากในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ภาคธุรกิจมีการขยายตัวลดลง ความต้องการกู้ยืมของ ภาคธุรกิจจึงลดลงไปด้วย ธนาคารพาณิชย์จึงหันไปแข่งขันทำกำไรด้วยการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคครัวเรือนแทนภาคธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ให้แก่ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25 ของการปล่อยสินเชื่อทั้งหมดในปี 2540 เป็นเกือบร้อยละ 50 ในปี 2545 เช่นเดียวกับกรณีของประเทศมาเลเซียที่ธนาคารพาณิชย์หันมาแข่งขันกันให้สินเชื่อภาคครัวเรือนมากขึ้น หลังจากที่ภาคธุรกิจระดมทุนผ่านตลาดเงินมากกว่าการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ต้องการกระจายความเสี่ยงจากการให้เงินกู้ยืมจำนวนมากที่กระจุกตัวอยู่ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มาให้กู้ยืมกับผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนการให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์แก่ภาคครัวเรือนปรับเพิ่มในปี 2543 จากร้อยละ 34 ของการให้กู้ยืมทั้งหมด เป็นร้อยละ 60 ในปี 2550 อัตราการขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนในช่วงเวลาดังกล่าวจึงปรับสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 14 ต่อปี (BIS Paper, 2009)

สำหรับประเทศไทย หนี้ภาคครัวเรือนที่ขยายตัวสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตนั้น มีสาเหตุร่วมที่คล้ายคลึงกับต่างประเทศดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นโดยเมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการเร่งขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนในภาพรวมพบว่า อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ตั้งแต่ปี 2552 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ มาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก สินเชื่อ soft loan*(2) และการแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นของสถาบัน การเงินผ่านกลยุทธ์ส่งเสริมการขายต่างๆ (Promotion package) เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้สินเชื่อภาคครัวเรือนจากสถาบันการเงินต่างๆ เร่งตัวขึ้นมาก โดยในส่วนของสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์พบว่า สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคลมีการขยายตัวในระดับสูง โดยตั้งแต่ปี 2554 - ไตรมาส 1 ปี 2556 อัตราการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 29.1 และ 25.0 ตามลำดับ โดยสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทข้างต้นมีน้ำหนักรวมกันเฉลี่ยถึงร้อยละ 45.6 ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคทั้งหมดในช่วงปี 2554 — ไตรมาส 1 2556 และแม้ว่าสินเชื่อดังกล่าวจะเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่อัตราการขยายตัวยังคงอยู่ในระดับสูง

การเร่งตัวขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนดังกล่าว ส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีสภาพคล่องลดลงและมีภาระในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งสร้างความเปราะบางมากขึ้นให้แก่ภาคครัวเรือน และหากเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ รายได้ของภาคครัวเรือนหดตัวลงขณะเดียวกัน สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ย่อมส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน จนทำให้การบริโภคของภาคครัวเรือนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงในที่สุด อย่างไรก็ดี การขยายตัวที่เพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคครัวเรือนโดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปล่อยโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบการเงินของไทยมากขึ้น จึงเป็นประเด็นคำถามต่อมาว่าระดับการก่อหนี้ที่เหมาะสมของภาคครัวเรือนควรพิจารณาจากปัจจัยอะไรบ้าง 3. ระดับการก่อหนี้ที่เหมาะสมของภาคครัวเรือน พิจารณาจากอะไร?

การขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนนั้น มาจากหลายปัจจัย ทั้งความสามารถในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ดีขึ้นและการกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและรถยนต์เพื่อลงทุนและสะสมความมั่งคั่งย่อมมีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบการเงิน อย่างไรก็ดี หากภาคครัวเรือนมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าการขยายตัวของรายได้หรือเศรษฐกิจในภาพรวมประกอบกับการที่ครัวเรือนมีสภาพคล่องไม่เพียงพอย่อมนำไปสู่ภาวะการก่อหนี้เกินตัวได้

จากการศึกษาของ Bank for International Settlements: BIS ในปี 2011 ซึ่ง ได้ทำการศึกษา กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) ในช่วงปี 2523 — 2553 จำนวนทั้งสิ้น 18 ประเทศ*(3) พบว่าระดับหนี้ภาคครัวเรือนที่อาจก่อให้เกิดผลลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 85 ของ GDP ซึ่งเมื่อเทียบกับของไทยที่ร้อยละ 77.5 ของ GDP ประกอบกับการขยายตัวที่ค่อนข้างเร็วในระยะหลัง จึงเกิดข้อสงสัยว่าประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะวิกฤติหรือไม่ หากสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงระดับร้อยละ 85 ของ GDP

ในการวิเคราะห์เพื่อตอบคำถามดังกล่าวคงไม่สามารถพิจารณาได้จากดัชนีเพียงตัวเดียวที่ได้จากการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างประเทศหนึ่งและในช่วงเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น ดังนั้น ระดับหนี้ภาคครัวเรือนที่ร้อยละ 85 ของ GDP นั้น เป็นเพียง Benchmark ที่ควรระวังมากกว่าที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในขั้นที่บอกว่าถึงระดับวิกฤติ ระดับการก่อหนี้ที่เหมาะสมของแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาประกอบกันในการประเมินเสถียรภาพของภาคครัวเรือน คือ ความสมดุลด้านรายได้ — รายจ่าย ระดับการออม ภาระในการชำระหนี้และวินัยทางการเงินของภาคครัวเรือน แม้ว่าครัวเรือนจะมีการก่อหนี้ในระดับสูง แต่หากภาคครัวเรือนมีวินัยทางการเงินที่ดีควบคู่กับ ความสามารถในการชำระหนี้ที่ยังคงแข็งแกร่ง หนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจได้ ดังกรณีศึกษาของประเทศออสเตรเลียที่ประสบปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนเร่งตัวในระดับสูงเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี โดยหนี้ภาคครัวเรือนในช่วงปี 2553 — 2555 อยู่ที่ระดับถึงร้อยละ 90 - 100 ของ GDP แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ธนาคารกลางออสเตรเลีย (Reserve Bank of Australia: RBA) พบว่าฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งอยู่เพราะความมั่งคั่งสุทธิของภาคครัวเรือนยังปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Household Net worth) ประกอบกับครัวเรือนยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ดีอยู่ สะท้อนจาก NPL ของสถาบันการเงินยังคงอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปี 2550 ภาคครัวเรือนของออสเตรเลียมีความระมัดระวังในการกู้ยืมมากขึ้นแสดงถึงวินัยทางการเงินที่ดีของภาคครัวเรือน ทำให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ชะลอตัวลงจากช่วงก่อนหน้าอย่างต่อเนื่อง*(4)

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนตามกลุ่มรายได้ จะส่งผลให้การวิเคราะห์เสถียรภาพภาคครัวเรือนมีความชัดเจนมากขึ้น เช่น แคนาดาที่หนี้ภาคครัวเรือนมีอยู่ถึงร้อยละ 95 ของ GDP ในปี 2555 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในภาพรวมแล้วพบว่า ภาคครัวเรือนของแคนาดายังคงมีความสามารถบริหารเงินเพื่อชำระหนี้ได้อยู่ อีกทั้งกลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำมีความเปราะบางน้อยลงสะท้อนจากสัดส่วนครัวเรือนรายได้ต่ำที่มีสัดส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้เฉลี่ยต่อเดือน (Debt Service Ratio: DSR) ที่เกินเกณฑ์ความเปราะบางขั้นต้น*(5) ปรับลดลง นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ที่ไม่ได้มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น จึงทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 85 ของ GDP ดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี งานศึกษาของ IMF ที่ศึกษากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (IMF Paper, 2012) พบว่ากลุ่มประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง*(6) จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดไว้ล่วงหน้า (Shock) มากกว่ากลุ่มประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำ โดยการบริโภคและเศรษฐกิจจะหดตัวรุนแรงกว่า ขณะที่การว่างงานมีการเร่งขึ้นมากกว่า 4. เสถียรภาพและความสามารถในการชำระหนี้ครัวเรือนของไทยเป็นอย่างไร?

ในการประเมินเสถียรภาพภาคครัวเรือนนั้นเครื่องชี้วัดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ประกอบด้วย

1) ความสมดุลระหว่างรายได้ รายจ่าย และการออม ซึ่งจากข้อมูลโครงการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (แบบสำรวจเพิ่มเติมของธนาคารแห่งประเทศไทย) ซึ่งออกสำรวจในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี2556 พบว่าจำนวนครัวเรือนที่เคยประสบปัญหามีเงินไม่เพียงพอกับรายจ่ายมีสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 40 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งครัวเรือนเหล่านี้คือกลุ่มครัวเรือนมีปัญหาเงินชักหน้าไม่ถึงหลังนั่นคือมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในแต่ละเดือน

นอกจากนี้ การออมในภาพรวมของภาค ครัวเรือนไทยได้ปรับลดลงจากในอดีต โดยจากข้อมูลบัญชีรายได้ประชาชาติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า สัดส่วนการออมต่อรายได้พึงใช้จ่ายของครัวเรือน (Saving rate) ในปี 2554 เป็นเพียงร้อยละ 9.2 ลดลงจากค่าเฉลี่ยในอดีต (ช่วงปี 2533-2553) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 11.3

2) ความเป็นหนี้และสภาพคล่องของครัวเรือน ประเมินจากสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้เฉลี่ยต่อปีของครัวเรือน (Debt to Income Ratio) จากผลการสำรวจปี 2552 และ 2554 ความเป็นหนี้ของครัวเรือนไทยทั้งประเทศทรงตัวอยู่ที่ระดับ 0.85 เท่าของรายได้ อย่างไรก็ดี ผลสำรวจล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2556 สัดส่วนหนี้สินปรับเพิ่มขึ้นเป็น 0.94 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อปี (รูปที่ 7) ส่งผลให้สภาพคล่องของภาคครัวเรือน ซึ่งพิจารณาจากสัดส่วนสินทรัพย์ทางการเงินต่อหนี้สินปรับลดลง ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

3) ภาระในการชำระหนี้ของครัวเรือน วัด โดยใช้สัดส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน (Debt Service Ratio: DSR) ซึ่งคำนวนจาก

รายจ่ายเงินต้น + ดอกเบี้ยของครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือน

-------------------------------------------

รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือน

DSR ถือเป็นเครื่องชี้วัดที่สำคัญที่สุดในการประเมินเสถียรภาพของครัวเรือน และมีการใช้แพร่หลายในต่างประเทศ โดยเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้บ่งบอกถึงความเปราะบางในเสถียรภาพของภาคครัวเรือนอยู่ที่ระดับ0.4 เท่า (Bank of Canada, 2008) หมายความว่าครัวเรือนที่มีภาระรายจ่ายในการชำระหนี้มากกว่าร้อยละ 40 ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนนั้น มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากข้อมูลโครงการสำ รวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2552 2554 และไตรมาสที่ 1 ปี 2556 พบว่า ครัวเรือนไทยมีภาระในการชำระหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 0.29 เท่า ในปี 2552 เป็น 0.30 และ 0.34 เท่า ในปี 2554 และไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ตามลำดับ นั่นหมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้วหากครัวเรือนมีรายได้ต่อเดือน 100 บาท ต้องนำเงิน 34 บาท ไปชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

หากพิจารณาคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์พบว่า คุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระเกิน 1 เดือนต่อสินเชื่ออุปโภคบริโภคทั้งหมด (NPL and delinquency ratio) ที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณร้อยละ 5 อย่างไรก็ดี แม้ว่าสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระเกิน 1 เดือนต่อสินเชื่ออุปโภคบริโภคดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำ แต่หนี้ภาคครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้น ทำให้ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพคล่องที่ลดลงหรือภาระการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ภาคครัวเรือนควรคำนึงถึงฐานะทางการเงินโดยเฉพาะภาระในการชำระหนี้ที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบก่อนที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งการเร่งตัวขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนในอนาคตอาจทำให้เกิดปัญหาการก่อหนี้เกินตัวได้โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่มีภาระในการชำระหนี้สูงกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าถึงธนาคารพาณิชย์และต้องพึ่งพาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและสถาบันการเงินอื่นๆ รวมทั้งแหล่งเงินกู้นอกระบบ 5. บทสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

การที่หนี้ภาคครัวเรือนไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งอาจเป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและบางส่วนเป็นผลจากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นของภาคครัวเรือนไทย อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 ปีที่ผ่าน มีปัจจัยต่างๆ ที่สนับสนุนให้สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวสูงขึ้นมาก อาทิ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการแข่งขันปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งระดับของหนี้ภาคครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้นส่งผลให้สภาพคล่องของภาคครัวเรือนปรับลดลงและภาระในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่าหนี้ที่เร่งขึ้นในระยะหลังเป็นการนำไปซื้อสินทรัพย์ เช่น บ้านและรถยนต์ แต่สินทรัพย์เหล่านี้มีสภาพคล่องค่อนข้างต่ำ ซึ่งขายได้ไม่เร็วประกอบกับราคาก็อาจปรับลดลงได้ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ภาระหนี้สินที่ครัวเรือนมีอยู่มากอาจส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจชะลอตัวในที่สุดดังที่เกิดขึ้นแล้วใน ประเทศสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ อีกทั้งประเด็นที่ว่าประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงแต่มีสินทรัพย์สูงด้วยก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา

นอกจากนี้ แม้ว่าปัจจุบันคุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์จะยังอยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนจะมีแนวโน้มชะลอลงในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง จึงยังต้องติดตามภาวะการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนต่อไปอย่างใกล้ชิด อีกทั้งต้องติดตามความสามารถในการชำ ระหนี้ของภาคครัวเรือน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากเกิดภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่จะทำให้รายได้ภาคครัวเรือนปรับลดลง ซึ่งอาจทำให้ภาคครัวเรือนมีการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่รายได้ต่ำ เพราะนอกจากพึ่งพาแหล่งเงินกู้ในระบบจากสหกรณ์ออมทรัพย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจแล้ว ยังมีส่วนที่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบในสัดส่วนที่สูงกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้รายได้ที่ลดลงยังอาจทำให้การบริโภคชะลอลง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในที่สุด

ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงควรมีส่วนร่วมในการรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการเงินที่ดีแก่ภาคครัวเรือน โดยลดการกระตุ้นการใช้จ่ายที่เกินตัวสนับสนุนให้ครัวเรือนมีพฤติกรรมการออมและลดการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครัวเรือนไทยและเป็นเครื่องรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

----------------------------------------------------

*(1) สถาบันการเงินต่างๆ ครอบคลุม ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์สหกรณ์ออมทรัพย์ และสถาบันการเงินอื่นๆ ได้แก่ โรงรับจำนำบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย กองทุน FIDF และบริษัทประกันภัย

*(2) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยปี พ.ศ. 2554

*(3) ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดาออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ กรีซ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน

*(4) Reserve Bank of Australia, Financial Stability Review March2013

*(5) แคนาดาใช้เกณฑ์วัดเพื่อป้องกันความเปราะบางขั้นต้น (preemptive level) ที่ระดับ DSR มากกว่าร้อยละ 23

*(6) แบ่งกลุ่มประเทศโดยเทียบระดับหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศนั้นๆ กับระดับหนี้ภาคครัวเรือนโดยเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD

ผู้เขียนขอขอบคุณ หลายท่านในสายนโยบายการเงินสำหรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ทำให้งานศึกษานี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณเมธี สุภาพงษ์ คุณทรงธรรม ปิ่นโต คุณพรเพ็ญ สดศรีชัย คุณอุบลรัตน์ จันทรังษ์ คุณสุรัช แทนบุญ คุณณชา อนันต์โชติกุล และ คุณศุภโชค ถาวรไกรวงศ์

Contact authors:

พสิษฐ์ โชติวัฒนะกุล

เศรษฐกร

ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน

สายนโยบายการเงิน

PasitC@bot.or.th

ชลิดา แท่งเพ็ชร

เศรษฐกร

ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน

สายนโยบายการเงิน

ChalidaT@bot.or.th

References

Atif R. Mian and Amir Sufi, House prices, home equity-based borrowing, and the US household leverage crisis, NBER working paper, August 2009

Bank of Canada Financial System Review, June 2013

Bank Negara Malaysia, Financial Stability and Payment System Report 2012

Guy Debelle, Household debt and the macroeconomy, BIS quarterly Review, March 2004

Milton Friedman, a theory of the consumption function, 1957

Monetary and Economic Department, Bank of International Settlements, Household debt: Implications for monetary policy and financial stability, BIS Paper No. 46, May 2009

M. S. Mohanty and Fabrizio Zampolli, The real effects of debt, Stephen G Cecchetti, BIS working Papers No 352, September 2011

Reserve Bank of Australia Financial Stability Review, March 2013

Umar Faruqui, Indebtedness and the Household Financial Health: An Examination of the Canadian Debt Service Ratio Distribution, Bank of Canada working Paper/Document de travail 2008-46, December 2008 http://fsi.img.org

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ