แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 31, 2013 13:48 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 48/2556

เศรษฐกิจเดือนกันยายน 2556 ในภาพรวมทรงตัวจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางหมวดปรับตัวดีขึ้น และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ส่วนดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและดุลการชำระเงินเกินดุล

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

เศรษฐกิจต่างประเทศที่ปรับดีขึ้นเริ่มส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเช่น สินค้าเกษตร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ และยานยนต์ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าอื่นยังเผชิญกับข้อจำกัดด้านการผลิตโดยเฉพาะสินค้าประมงจากปัญหาโรคระบาดในกุ้ง และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จากเทคโนโลยีการผลิตของไทยที่ยังไม่สามารถสนองตอบความต้องการสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงซึ่งเป็นที่นิยมของตลาดโลกได้มากนัก ซึ่งเมื่อรวมกับการหดตัวของการส่งออกเหล็กและโลหะ รวมทั้งทองคำด้วยผลของฐานที่สูงปีก่อน การส่งออกจึงหดตัวร้อยละ 6.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 19,169 ล้านดอลลาร์ สรอ.

เครื่องชี้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนอยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อน เพราะการบริโภคสินค้าคงทนโดยเฉพาะยานยนต์ยังหดตัว ประกอบกับครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายจากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นและความเชื่อมั่นที่ปรับลดลงบ้าง การบริโภคสินค้าประเภทอื่นๆ จึงขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง อาทิ การใช้เชื้อเพลิงและการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 6.1 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการหดตัวของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากมีผลของฐานในปีก่อนที่สูงกว่าระดับปกติมาก

การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน แต่หากเทียบกับฐานที่สูงในเดือนเดียวกันปีที่แล้วซึ่งเป็นช่วงของการซ่อมสร้างหลังมหาอุทกภัย ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 3.3 ตามการลดลงของยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์โดยเฉพาะเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนเลื่อนการลงทุนออกไปเพื่อรอประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความชัดเจนของภาคการส่งออก อย่างไรก็ดี การลงทุนก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างโดยเฉพาะในหมวดที่อยู่อาศัยและยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้น

การส่งออกสินค้าที่โดยรวมหดตัว ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทรงตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าหดตัว โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 2.9 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามการผลิตกุ้งแช่แข็งที่ลดลงจากปัญหาโรคระบาดในกุ้ง การผลิตยานยนต์ที่คำสั่งซื้อต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยการลดลงของคำสั่งซื้อในประเทศ และการผลิตเบียร์ที่ลดลงชั่วคราวเนื่องจากผู้ผลิตรอความชัดเจนด้านราคาภายหลังการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,608 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 6.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของการนำเข้าในทุกหมวด

รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 2.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามผลผลิตสินค้าเกษตรที่หดตัวโดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับผลผลิตข้าวบางส่วนได้รับความเสียหายจากอุทกภัย นอกจากนี้ ผลผลิตกุ้งยังคงได้รับผลลบจากปัญหาโรคระบาดอย่างไรก็ดี ราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้นในภาพรวมตามราคากุ้งและปศุสัตว์ที่ผลผลิตมีน้อยกว่าความต้องการแม้ว่าในขณะเดียวกันราคาข้าวลดลงบ้างตามความต้องการจากต่างประเทศที่ชะลอตัว เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งและผลผลิตของประเทศผู้นำเข้าหลักเพิ่มขึ้น

สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 2.1 ล้านคน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 27.6 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาคโดยเฉพาะจีน มาเลเซีย และรัสเซีย

ภาครัฐใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่จากการโอนเงินอุดหนุนโครงการแก้ไขปัญหายางพารา แต่การเบิกจ่ายลงทุนเพื่องานด้านชลประทานและคมนาคมยังคงทำได้ค่อนข้างล่าช้า ส่วนหนึ่งเพราะประสบปัญหาการจัดจ้างผู้รับเหมาและการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง สำหรับรายได้นำส่งลดลงตามภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เหลื่อมการนำส่งบางส่วนไปเดือนหน้า ขณะที่การนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังเพิ่มขึ้นรายได้ที่มากกว่ารายจ่ายทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสด 74 พันล้านบาท

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.42 จากราคาในทุกหมวดที่ชะลอตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.61 ชะลอลงตามการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาที่ทำได้ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัว สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องดุลการค้าเกินดุล แต่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ขณะที่ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลจากการที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน รวมถึงลงทุนโดยตรง โดยรวมดุลการชำระเงินเกินดุล

ภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ปี 2556 มีสัญญาณปรับดีขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามการส่งออกสินค้าในหลายหมวดที่ทยอยปรับดีขึ้นตามอุปสงค์ต่างประเทศและการท่องเที่ยวที่เติบโตดีต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัว ส่งผลให้การฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังไม่ชัดเจนนัก ด้านภาครัฐมีการเร่งใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อชะลอลง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลงจากไตรมาสก่อน โดยการขาดดุลส่วนใหญ่เป็นผลจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันการเงินเป็นสำคัญ โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุลน้อยลงจากไตรมาสก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ