แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 29, 2013 17:05 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 52/2556

เศรษฐกิจเดือนตุลาคม 2556 ในภาพรวมทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนทรงตัวและการส่งออกสินค้ายังได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศไม่มากนัก ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลงจากผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายด้านการท่องเที่ยวของจีน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการเกินดุลการค้า ขณะที่ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศของนักลงทุนไทยและการฝากเงินในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์เพื่อบริหารสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศในภาพรวมดุลการชำระเงินขาดดุลเล็กน้อย

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทรงตัว เนื่องจากประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่ายจากความเชื่อมั่นที่ลดลงและภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนจากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยการใช้จ่ายในสินค้าไม่คงทนขยายตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลง อาทิการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในหมวดสินค้าไม่คงทน การใช้ไฟฟ้าและเชื้อเพลิง ส่วนการใช้จ่ายในสินค้าคงทนโดยเฉพาะยานยนต์หดตัวต่อเนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อนที่มีการส่งมอบรถยนต์ในโครงการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรกค่อนข้างมาก

การส่งออกสินค้าโดยรวมยังได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่มาก โดยการส่งออกมีมูลค่า19,038 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจาก 1) การส่งออกในบางสินค้าเผชิญกับข้อจำกัดด้านการผลิตโดยเฉพาะสินค้าประมงที่หดตัวจากปัญหาโรคระบาดในกุ้ง และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบที่ขยายตัวในอัตราที่ต่ำจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีของไทยที่ยังไม่สามารถตอบสนองต่อรสนิยมของตลาดได้มากนัก และ 2) การส่งออกเหล็กและโลหะหดตัวจากฐานที่สูงในปีก่อน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงปิโตรเคมียังขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน

การบริโภคภาคเอกชนที่ค่อนข้างทรงตัวและการส่งออกสินค้าที่ยังหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 4 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ส่วนใหญ่เป็นผลจากการผลิตยานยนต์ที่หดตัวเพราะมีการเร่งผลิตไปมากในปีก่อน ประกอบกับคำสั่งซื้อต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงพอต่อการชดเชยคำสั่งซื้อในประเทศที่น้อยลง และการผลิตกุ้งแช่แข็งลดลงจากปัญหาโรคระบาด ในขณะเดียวกันเดือนนี้มีปัจจัยพิเศษที่ทำให้การผลิตในบางอุตสาหกรรมขยายตัวสูงกว่าปกติ ได้แก่ การเพิ่มระดับสต็อกเบียร์ให้กลับเข้าสู่ระดับปกติหลังจากที่มีการชะลอการผลิตในเดือนก่อนเพื่อรอความชัดเจนด้านราคาภายหลังมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต และการเร่งผลิตน้ำมันเพื่อสำรองเพิ่มขึ้นตามประกาศของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน ซึ่งหากไม่รวมผลของการผลิตรถยนต์ กุ้งแช่แข็ง และปัจจัยพิเศษข้างต้น การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมจะขยายตัวชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน สอดคล้องกับทิศทางของอุปสงค์ในประเทศ

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวมีส่วนทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนเลื่อนการลงทุนออกไปเพื่อรอประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อประกอบกับผลของการเร่งลงทุนในเดือนเดียวกันปีที่แล้วซึ่งเป็นช่วงของการซ่อมสร้างหลังมหาอุทกภัย ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนจึงหดตัวร้อยละ 4.9 ตามการซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์และการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ ขณะที่การลงทุนก่อสร้างขยายตัวชะลอลง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา

การนำเข้ามีมูลค่า 18,701 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 4.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมน้ำมัน รวมทั้งยานยนต์และชิ้นส่วน

รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 5.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามผลผลิตที่ขยายตัวโดยเฉพาะข้าวที่ปริมาณน้ำและภูมิอากาศเอื้ออำนวย และยางพาราที่เพิ่มขึ้นตามการขยายพื้นที่เพาะปลูกในช่วงก่อนหน้าอย่างไรก็ดี ผลผลิตกุ้งยังคงประสบปัญหาโรคระบาด สำหรับราคาสินค้าเกษตรลดลงเล็กน้อยตามราคาข้าวซึ่งสอดคล้องกับราคาข้าวในตลาดโลกที่ลดลงเนื่องจากผลผลิตของประเทศผู้ผลิตสำคัญเพิ่มขึ้น ส่วนราคายางพาราลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ความต้องการยังมีน้อยและสต็อกของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าหลักยังอยู่ในระดับสูง

สำหรับภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนนี้อยู่ที่ 2.1 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 14.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนตามนักท่องเที่ยวจากจีนเป็นสำคัญส่วนหนึ่งจากผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายด้านการท่องเที่ยวของจีน ขณะที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ภาครัฐใช้จ่ายลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ที่ล่าช้าและจากผลของฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่ายตามมาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายของรัฐบาล สำหรับรายได้นำส่งเพิ่มขึ้นตามภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เหลื่อมการนำส่งบางส่วนมาจากเดือนก่อนเป็นสำคัญ เม็ดเงินรายจ่ายที่มากกว่ารายได้ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 99 พันล้านบาท

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.46 จากราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้นตามราคาผักและผลไม้ที่ผลผลิตออกมาน้อยเนื่องจากฝนตกชุกในหลายพื้นที่ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.71 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูปและราคาเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการเกินดุลการค้า ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศของนักลงทุนไทยและการฝากเงินในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์เพื่อบริหารสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศ โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุลเล็กน้อย

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ