แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมกราคม 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 28, 2014 10:38 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 04/2557

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมกราคม 2557 ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการบริโภคของภาคเอกชนที่ลดลง เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง กอปรกับรายได้ของเกษตรกรและการใช้จ่ายของภาครัฐลดลง อย่างไรก็ดี การให้สินเชื่อของสถาบันการเงินแม้จะชะลอลง แต่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นบ้าง สะท้อนจากสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร และการก่อสร้างที่ขยายตัวดี ส่งผลให้ภาคการค้า แม้จะยังคงลดลง แต่การค้าปลีกมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนบ้าง ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับปกติ โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ2.53 และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ2.2 และยังคงหดตัวเท่ากับเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 32.2 กอปรกับรายได้เกษตรกรลดลง ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น สอดคล้องกับภาคการค้าที่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.5 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการค้าส่งที่หดตัวลง เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการสะสมสต็อก อย่างไรก็ตาม การค้าปลีกแม้จะยังคงลดลง แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนจากการปรับตัวดีขึ้นของยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง น้ำมันเชื้อเพลิง และรถยนต์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งเสริมการขายเป็นพิเศษ รวมถึงการออกรถรุ่นใหม่ สำหรับภาคบริการ ยังคงชะลอลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากรายได้ของภาคบริการ และราคาเฉลี่ยห้องพักที่ชะลอลงขณะที่อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 45.6 ใกล้เคียงกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

ด้านการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.2 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย จากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามการทยอยก่อสร้างโครงการที่เปิดตัวในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าในเดือนนี้พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างจะลดลง โดยเฉพาะพื้นที่ก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์ สำหรับความสนใจของนักลงทุนในระยะต่อไปมีแนวโน้มลดลง ส่วนสำคัญเป็นผลจากนักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนจากความไม่แน่นอนทางการเมือง สะท้อนจากเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ลดลง โดยเฉพาะในหมวดเกษตรและผลผลิตทางการเกษตร

การใช้จ่ายของรัฐ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.0 จากที่เพิ่มขึ้นในเดือนก่อน โดยรายจ่ายงบลงทุนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.0 ตามการลดลงจากรายจ่ายหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ขณะที่รายจ่ายงบประจำเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.4 แต่ชะลอลง เนื่องจากมีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจไปมากในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า

ภาคเกษตร ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.2 และหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการหดตัวของราคาเป็นสำคัญ แม้ว่าผลผลิตจะขยายตัว โดยดัชนีราคาพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.9 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน เป็นผลจากราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ลดลงจากผลของการระบายข้าวของรัฐบาล ราคามันสำปะหลังลดลงจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ราคาอ้อยโรงงานลดลงตามแนวโน้มราคาน้ำตาล และราคายางพาราลดลงเนื่องจากสต็อกของผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับสูง สำหรับดัชนีผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.2 และขยายตัวจากเดือนก่อนตามผลผลิตยางพารา มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.5 และยังคงลดลงต่อเนื่อง ตามการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่ลดลง เนื่องจากโรงงานบางแห่งมีการปรับลดสายการผลิต สำหรับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลง ตามความต้องการจากตลาดต่างประเทศที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี การผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลขยายตัวดี ทั้งการผลิตน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาว ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากผลของการเพิ่มจำนวนโรงงานในปีก่อน

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 ธนาคารพาณิชย์ มีเงินฝากคงค้าง 614.7 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.3 และขยายตัวจากเดือนพฤศจิกายน ตามเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ ส่วนสินเชื่อคงค้าง 777.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.5 แม้จะชะลอลงจากสินเชื่อภาคครัวเรือน แต่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นบ้าง เห็นได้จากสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทางการเกษตร และการก่อสร้างที่ยังขยายตัว สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีเงินฝากคงค้าง 347.5 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.2 และขยายตัวจากเดือนพฤศจิกายน ตามเงินฝากของส่วนราชการทั้งธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ด้านสินเชื่อคงค้าง 950.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.4 แต่ชะลอตัวจากเดือนพฤศจิกายน โดยเป็นการชะลอตัวของสินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสินเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.53 เริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาเนื้อสัตว์ ผลไม้สด อาหารสำเร็จรูปบริโภคในและนอกบ้าน เชื้อเพลิงหุงต้มในบ้านและน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.77 สูงขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคในและนอกบ้านเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ