ความแตกต่างระหว่างธนาคารพาณิชย์ กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 10, 2014 13:45 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ประภัทร พูนสิน มกราคม 2557

ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจถือเป็นสถาบันการเงินที่มีความคุ้นเคยและใกล้ชิด กับผู้ใช้บริการทางการเงินทั่วไป แต่ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า สถาบันทั้งสองประเภทมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจอย่างง่าย อาจกล่าวได้ว่า ธนาคารพาณิชย์ คือบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาต ให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น ในขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ คือสถาบันการเงินที่รัฐตรากฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายของรัฐ เพื่อพัฒนาส่งเสริมเศรษฐกิจ และสนับสนุน การลงทุน โดยปกติสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะมีทั้งที่รับและไม่รับฝากเงินจากประชาชน ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึง เฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ใกล้ชิดกับเรามายาวนานตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่และให้บริการรับฝากเงินจากประชาชนอันได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารอาคารสงเคราะห์ แม้ว่าสถาบันการเงินทั้งสองประเภทข้างต้นสามารถให้บริการทางการเงินแก่บุคคลทั่วไปได้เหมือน ๆ กัน แต่หากพิจารณาลงลึกไปในรายละเอียดแล้ว ยังมีข้อแตกต่างกันอยู่บ้างในบางประเด็น

การกระจายสาขาและการให้บริการ สาขาของสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีการกระจายตัวเกือบครบทุกอำเภอในประเทศไทย ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตอำเภอที่มีความเจริญเป็นย่านการค้า ทำให้ประชาชนสามารถใช้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ทั่วถึงกว่าในแง่ของภูมิศาสตร์ ในส่วนการให้บริการ ธนาคารพาณิชย์มีการให้บริการทางการเงินที่หลากหลายและซับซ้อนมากกว่า เช่น บริการวาณิชธนกิจ หรือผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยงทางการเงิน ในขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะมีบทบาทสำคัญในการให้บริการทางการเงินที่ส่งเสริมนโยบายของรัฐ เช่น สินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบท การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และ OTOP

การกำกับดูแล ธนาคารพาณิชย์ได้รับการกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะกำกับ ตรวจสอบ วิเคราะห์และติดตามฐานะการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งดำเนินการกับธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหาในการดำเนินกิจการหรือปฏิบัติฝ่าฝนกฎหมาย ส่วนสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะได้รับการกำกับดูแลโดยกระทรวงการคลัง โดยกระทรวงการคลังจะมอบหมายให้ ธปท. เป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินกิจการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ แล้วรายงานผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการต่อไป

การคุ้มครองเงินฝาก เงินฝากที่เป็นสกุลเงินบาทของผู้ฝากที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่ฝากไว้ กับธนาคารพาณิชย์ จะได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบัน มีวงเงินคุ้มครองอยู่ที่ 50 ล้านบาท/ราย/สถาบัน (รวมทุกบัญชี) ไปจนถึงวันที่ 10 ส.ค. 58 หลังจากนั้นวงเงินคุ้มครองจะลดลงเหลือ 25 ล้านบาท ในวันที่ 11 ส.ค. 58 และในที่สุดวงเงินคุ้มครองจะลดลงเหลือเพียง 1 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 59 เป็นต้นไป แม้ว่าเงินฝากที่อยู่กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะไม่ได้รับการคุ้มครองจาก สคฝ. แต่เนื่องจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐและมีรัฐบาลถือหุ้น ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ การปิดหรือเลิกกิจการเป็นไปได้ยาก จึงถือได้ว่าเงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาล

แม้ว่าธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่สถาบันการเงินทั้ง 2 ประเภทก็เป็นสถาบันการเงินที่มีความมั่งคงและน่าเชื่อถือ โดยมี ธปท. และกระทรวงการคลังทำหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบฐานะการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายและหลักเกณฑ์ที่ทางการได้กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ใช้บริการทางการเงินท่านมีสิทธิ์ในการเลือกใช้บริการทางการเงินอย่างอิสระ และมีสิทธิ์ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบและเปรียบเทียบการพิจารณาก่อน ที่จะเลือกใช้บริการทางการเงินที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับตัวท่านเองมากที่สุด

หากท่านมีข้อสงสัย ในการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ท่านสามารถโทรศัพท์ติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ 1213 หรือกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถร้องเรียนการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ได้ด้วยตนเองที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ซึ่งตั้งอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งในเขตกรุงเทพ และเขตภูมิภาคทั้ง 3 แห่งได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ ส่วนสถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถร้องเรียนไปที่สถาบันการเงินนั้นโดยตรงหรือที่กระทรวงการคลัง

******************************************************

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ