แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 30, 2014 14:43 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 15/2557

เศรษฐกิจเดือนมีนาคม 2557 โดยรวมหดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้าและได้รับผลกระทบชั่วคราวจากการปิดซ่อมโรงงานในบางอุตสาหกรรม ประกอบกับการใช้จ่ายภายในประเทศที่ค่อนข้างทรงตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัว ส่วนภาคการท่องเที่ยวเริ่มทรงตัว เนื่องจากความกังวลของนักท่องเที่ยวต่างประเทศต่อสถานการณ์การเมืองผ่อนคลายลงบ้างหลังการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูปและราคาพลังงาน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการนำเข้าสินค้าที่หดตัวเป็นสำคัญ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการออกไปลงทุนโดยตรงและลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุลเล็กน้อย

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

การส่งออกสินค้าโดยรวมฟื้นตัวได้ช้า ประกอบกับได้รับผลชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ชะลอตัว ทำให้การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 19,766 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 2.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตาม 1) การส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ความต้องการในตลาดโลกยังอ่อนแอ2) การส่งออกปิโตรเลียมจากการปิดซ่อมบำรุงโรงงาน และ 3) การส่งออกสินค้าเกษตรจากการหดตัวของราคายางพาราและราคาข้าว นอกจากนี้ การส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กและโลหะยังได้รับผลของฐานสูงในปีก่อนที่ได้ผลดีจากการยกเลิกมาตรการทุ่มตลาดของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าในบางอุตสาหกรรมมีทิศทางปรับดีขึ้นเป็นลำดับตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่ฟื้นตัว อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

อุปสงค์ภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน แต่หากเทียบกับฐานที่สูงในเดือนเดียวกันปีก่อน อุปสงค์ภาคเอกชนยังหดตัว โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 1.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายที่ลดลงทั้งในสินค้าคงทนและไม่คงทน เนื่องจากครัวเรือนยังคงระมัดระวังในการใช้จ่าย เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเริ่มส่งผลกระทบต่อรายได้ ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 6.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการลงทุนออกไปเพื่อรอความชัดเจนทางเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลให้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ

การส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้าและอุปสงค์ภาคเอกชนที่ยังคงอ่อนแอ ประกอบกับผลชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงงานในบางอุตสาหกรรม ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากเดือนก่อน และหากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 10.4 ตาม 1) การผลิตยานยนต์ที่มีการเร่งผลิตไปมากในปีก่อน ประกอบกับคำสั่งซื้อต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงพอที่จะชดเชยคำสั่งซื้อในประเทศที่ลดลง 2) การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ความต้องการใช้สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในตลาดโลกลดลง และ3) การผลิตปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ และยาสูบที่ปิดซ่อมบำรุงโรงงานชั่วคราว

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัว ส่งผลให้การนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 16,286 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 13.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะจากการหดตัวของการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง

ภาคการท่องเที่ยวเริ่มทรงตัวจากเดือนก่อน เพราะได้รับผลดีจากสถานการณ์ที่ผ่อนคลายลงบ้างหลังการประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2557 แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัว โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนนี้มีจำนวน 2.1 ล้านคน หดตัวร้อยละ 9.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น

รายได้เกษตรกรหดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน รายได้เกษตรกรขยายตัวจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันที่มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเมื่อหลายปีก่อน ส่วนผลผลิตข้าวหดตัวจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย สำหรับราคาสินค้าเกษตรหดตัวโดยเฉพาะราคาข้าวที่ลดลงมากจากการระบายสต็อกของทางการไทยและการสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าว และราคายางพาราที่หดตัวตามอุปสงค์จากจีนที่ชะลอตัว รวมทั้งสต็อกของจีนที่ยังอยู่ในระดับสูง

ภาครัฐใช้จ่ายโดยรวมลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน หลังจากเร่งเบิกจ่ายเงินโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งการใช้จ่ายงบลงทุนที่สามารถทำได้เพียงบางส่วน สำหรับรายได้นำส่งลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนตามการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประกอบกับรายได้จากภาษีสรรพสามิตและภาษีการค้าระหว่างประเทศลดลงสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รายจ่ายที่มากกว่ารายได้ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 43 พันล้านบาท

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามการส่งผ่านต้นทุนไปยังอาหารสำเร็จรูปและราคาพลังงาน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้า ตามการนำเข้าที่หดตัวเป็นสำคัญ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการออกไปลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย อย่างไรก็ดี การลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศกลับมาเป็นการไหลเข้าสุทธิโดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุลเล็กน้อย

ภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีแนวโน้มหดตัวจากไตรมาสก่อน จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อทำให้ครัวเรือนและธุรกิจระมัดระวังในการบริโภคและลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐทำได้จำกัดโดยเฉพาะงบลงทุน รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวมากขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าที่มีทิศทางปรับดีขึ้นไม่สามารถชดเชยการหดตัวดังกล่าวได้ จึงส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูป ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการนำเข้าสินค้าที่หดตัว ส่วนดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการเพิ่มเงินฝากในต่างประเทศของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ การออกไปลงทุนโดยตรงและลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย และการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศ โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ