ฉบับที่ 06/2557
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมีนาคม 2557 ยังคงชะลอลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการบริโภคภาคเอกชนลดลง เนื่องจากรายได้ของเกษตรกรลดลง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ และสถาบันการเงินเข้มงวดในการให้สินเชื่อมากขึ้น รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวจากภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การค้าปลีกสินค้าคงทนหดตัวในอัตราที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อตามแนวชายแดนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และมีแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังเพิ่มขึ้นตามการโอนเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นบ้างมาอยู่ที่ร้อยละ 2.66 และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.3 และลดลงต่อเนื่อง ตามกำลังซื้อของเกษตรกรที่มีรายได้ลดลง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 29.8 จากผลกระทบของความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น สอดคล้องกับภาคการค้า โดยดัชนีการค้าลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.3 และลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการค้าปลีกและค้าส่ง อย่างไรก็ดี การค้าปลีกสินค้าคงทนทั้งวัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องตกแต่งภายในบ้านมีแนวโน้มหดตัวในอัตราที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากกำลังซื้อตามแนวชายแดนที่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะกลุ่มวัสดุก่อสร้าง สำหรับภาคบริการ อัตรา การเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 50.5 ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ51.5
ด้านการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.8 และยังคงลดลงต่อเนื่อง ตามภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ เนื่องจากนักลงทุนรอประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองจึงชะลอการลงทุนไปก่อน ประกอบกับไม่มั่นใจในกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หดตัวต่อเนื่องทำให้การลงทุนในระยะต่อไปมีแนวโน้มลดลง สะท้อนจากเงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีเป็นต้นมา
สำหรับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.7 จากการโอนเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้แก่ อปท. และรายจ่ายในหมวดเงินเดือนเพิ่มขึ้น ซึ่งถึงแม้จะชะลอลงจากเดือนก่อนบ้างแต่ยังถือว่าอยู่ในระดับปกติ ขณะที่รายจ่ายลงทุนลดลงจากรายจ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างเป็นสำคัญภาคเกษตร ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.4 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน เป็นผลจากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยราคาพืชหลักลดลงตามทิศทางราคาในตลาดโลกทั้งราคาข้าว อ้อยโรงงาน ยางพารา และมันสำปะหลัง สำหรับดัชนีผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.2 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนตามผลผลิตอ้อยโรงงาน และยางพารา
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.9 และหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน เนื่องจากการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์แม้จะยังคงหดตัวจากผลของการปรับลดสายการผลิตของโรงงานบางแห่ง แต่เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นจากสต็อกสินค้าเริ่มน้อยลงจากที่อยู่ในระดับสูงในช่วงก่อนหน้า สำหรับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หดตัวต่อเนื่อง จากความต้องการจากต่างประเทศที่ลดลง อย่างไรก็ดี การผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลยังคงเพิ่มขึ้น ตามการผลิตน้ำตาลทรายดิบเป็นสำคัญ
ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ธนาคารพาณิชย์ มีเงินฝากคงค้าง 619.4 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.9 และขยายตัวจากเดือนมกราคม ส่วนหนึ่งจากเงินฝากของส่วนราชการเพิ่มขึ้น ด้านสินเชื่อคงค้าง 783.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.6 แต่ชะลอลงต่อเนื่อง เนื่องจากสถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่ให้แก่ภาค ครัวเรือน อย่างไรก็ดี สินเชื่อเพื่อธุรกิจค้าปลีกค้าส่งยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีในธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างสำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีเงินฝากคงค้าง 347.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ4.4 แต่ชะลอลงจากเดือนมกราคม ตามเงินฝากธนาคารออมสินเป็นสำคัญ ด้านสินเชื่อคงค้าง 950.5 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.3 แต่ชะลอลงต่อเนื่อง ตามการชะลอตัวของสินเชื่อเกือบทุก ธนาคาร
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.66 เร่งตัวขึ้นบ้างจากเดือนก่อน ตามราคาสินค้าราคาเนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูปบริโภคในและนอกบ้าน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนเชื้อเพลิงหุงต้มที่ปรับราคาสูงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.78 สูงขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคในและนอกบ้าน สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410
E-mail: [email protected]
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย