ฉบับที่ 08/2557
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนลดลง ตามกำลังซื้อของเกษตรกรที่มีรายได้ลดลง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำ จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง สอดคล้องกับภาคการค้า โดยเฉพาะการค้ารถยนต์ลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการให้สินเชื่อ แก่ภาคครัวเรือนมากขึ้น รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวจากภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจยังได้รับแรงสนับสนุนบางส่วนจากเงินโอนภาครัฐ และการค้าตามแนวชายแดนที่ยังคงเกินดุลสำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.55 เร่งตัวขึ้นบ้างจากราคาเนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูป และเชื้อเพลิงหุงต้ม ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ
การบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.0 และลดลงเท่ากับไตรมาสก่อน ตามกำลังซื้อของเกษตรกรที่มีรายได้ลดลง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำ และมีทิศทางเดียวกับของประเทศ เนื่องจากภาคครัวเรือนยังกังวลต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ รวมถึงหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงแม้จะชะลอลงบ้าง ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น สอดคล้องกับภาคการค้า โดยดัชนีการค้าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.1 และลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะการค้ารถยนต์ที่ลดลงต่อเนื่อง ตามความต้องการซื้อรถยนต์ลดลงจากระดับสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2555 หลังสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรกและการเร่งซื้อในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับสถาบันการเงินเข้มงวดในการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนมากขึ้น อย่างไรก็ตามยอดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้ายังขยายตัว สะท้อนถึงผู้บริโภคบางส่วนยังมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยสำหรับภาคบริการ อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 47.8 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยที่มีอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 48.4
การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.5 และลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ทั้งภาคการก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งจากการรอความชัดเจนของโครงการขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐาน ยกเว้นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่หดตัวมาก แต่คาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ขณะที่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ยังไม่ถูกกระทบและยังมีศักยภาพที่จะลงทุนในระยะต่อไป หากสภาวะแวดล้อมเอื้ออำนวย
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.5 หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องใน 2 ไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการโอนเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โดยเฉพาะค่าเบี้ยผู้สูงอายุให้แก่ อปท. ที่ขยายตัว รวมทั้งการค้าตามแนวชายแดนที่ยังคงเกินดุลตามการฟื้นตัวของการอุปโภคบริโภคของประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลดีจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ยังมีกำลังซื้อจากนอกภาคเกษตรบ้าง
ด้านการผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.8 และหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาพืชสำคัญลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.6 และหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน จากผลของราคาทุกพืชหลักที่หดตัว ตามราคาตลาดโลกทั้งราคาข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และยางพารา โดยเฉพาะราคาข้าวที่ลดลงมากจากการระบายข้าวของภาครัฐ ขณะที่ดัชนีผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.2 และขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ตามผลผลิตอ้อยโรงงานเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการส่งเสริมการปลูกอ้อยของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.5 แต่หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 12.5 จากการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ยังขยายตัวดีตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากผลของการเพิ่มจำนวนโรงงานในปีก่อน สำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ยังคงหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากโรงงานบางแห่งมีการปรับลดสายการผลิตบางสาย ประกอบกับสต็อกสินค้ายังอยู่ในระดับสูงจากการปรับราคาขาย แต่เริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้างในเดือนมีนาคม สำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) หดตัวตามความต้องการจากต่างประเทศที่ชะลอลง
ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ มีเงินฝากคงค้าง 608.7 พันล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน จากเงินฝากทุกประเภท ด้านสินเชื่อคงค้าง 788.1 พันล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.2 แต่ชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการให้สินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเริ่มมีข้อจำกัด สำหรับสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจแม้จะชะลอลง แต่สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจบางกลุ่มยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่งวัสดุที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้าง อาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจผลิตแป้งมัน สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีเงินฝากคงค้าง 369.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.5 และขยายตัวจากไตรมาสก่อน ตามการขยายตัวของเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์การเกษตร ด้านสินเชื่อคงค้าง 956.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.5 และขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน จากสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นสำคัญ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.55 เร่งตัวขึ้นบ้างจากไตรมาสก่อน ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูปบริโภคในและนอกบ้านสูงขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนของราคาเชื้อเพลิงหุงต้มในบ้านที่ทยอยปรับสูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.74 สูงขึ้นจากไตรมาสก่อน สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้จะปรับสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 0.6
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410
E-mail: [email protected]
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย