แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนเมษายน 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 30, 2014 10:31 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 09/2557

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนเมษายน 2557 ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการลดลงของการบริโภคภาคเอกชน เนื่องจากรายได้เกษตรกรยังคงหดตัวจากผลของราคาพืชผลที่ยังคงลดลงและความเชื่อมั่นของประชาชนยังอยู่ในระดับต่ำ จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง ประกอบกับสถาบันการเงินยังคงระมัดระวังในการให้สินเชื่อ ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนโดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง รวมทั้งแรงส่งจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่หดตัวลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวบ้างในภาคอุตสาหกรรม สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับปกติ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.85 ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.1 จากที่ทรงตัวในเดือนก่อน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าในหมวดยานยนต์ที่ยังคงลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนลดลงจากภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำที่ 32.9 จากผลของความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น สอดคล้องกับภาคการค้า ที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีการค้าลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.4 ตามการค้าปลีกโดยเฉพาะการค้าปลีกในหมวดยานยนต์ที่หดตัวต่อเนื่อง ส่วนการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคและการค้าในห้างสรรพสินค้าชะลอลง ขณะที่การค้าส่งโดยรวมหดตัวตามการค้าส่งสินค้าขั้นกลางในหมวดไม้แปรรูป วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงหดตัว สำหรับภาคบริการ อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 43.8 ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 44.8 ส่วนรายได้ของธุรกิจภาคบริการยังคงชะลอลงจากเดือนก่อน

ด้านการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.7และยังคงลดลงต่อเนื่อง ตามภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นเริ่มมีการทยอยลงทุนตามแผนการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สะท้อนจากเงินลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมตั้งใหม่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 93.1

การใช้จ่ายของภาครัฐ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.9 จากที่เพิ่มขึ้นในเดือนก่อนเนื่องจากมีการโอนเงินให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไปมากในเดือนก่อน ขณะที่งบลงทุนกลับมาขยายตัวตามการใช้จ่ายหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะการก่อสร้างถนน

สำหรับการผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.9 แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน โดยดัชนีราคาพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.2 และยังคงลดลงต่อเนื่องตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกทั้งราคาข้าว อ้อยโรงงานมันสำปะหลัง และยางพารา ขณะที่ดัชนีผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.5 และขยายตัวจากเดือนก่อนเล็กน้อย ตามผลผลิตยางพาราเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในบางจังหวัดเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากการผลิตภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.4 หลังจากที่หดตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีก่อน เนื่องจากการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น ทั้งการผลิตน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายดิบ รวมทั้งการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดส่งออกต่างประทศที่เริ่มฟื้นตัว สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัวน้อยลง จากการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 ธนาคารพาณิชย์ มีเงินฝากคงค้าง 608.7 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 แต่ชะลอตัวจากเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการถอนใช้เงินงบประมาณของส่วนราชการ ด้านสินเชื่อคงค้าง 788.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.2 แต่ยังคงชะลอลงต่อเนื่อง เป็นผลจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคแก่ภาคครัวเรือน เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ที่มีจำกัด ส่วนสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจแม้จะยังคงชะลอลง แต่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในบางธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจการผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีเงินฝากคงค้าง369.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.5 และขยายตัวจากเดือนกุมภาพันธ์ ตามเงินฝากของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการโอนเงินจากโครงการนโยบายของรัฐและการระดมเงินกองทุนช่วยเหลือชาวนา ด้านสินเชื่อคงค้าง 956.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.5 และขยายตัวจากเดือนกุมภาพันธ์ ตามสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อปัจจัยการผลิตสำหรับฤดูการผลิตใหม่

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ยังอยู่ในระดับปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.85 ยังคงเร่งตัวจากเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคในและนอกบ้านที่สูงขึ้นจากผลของราคาเชื้อเพลิงหุงต้มที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ1.99 สูงขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคในและนอกบ้าน สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ใน ระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ