แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤษภาคม 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 30, 2014 10:36 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 10/2557

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤษภาคม 2557 ยังคงชะลอลงแต่เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นบ้างจากเดือนก่อน ตามแรงกระตุ้นของการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวน้อยลงตามภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐหดตัวน้อยลงจากการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับปกติ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.20 จากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.7 แต่เริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้างจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 3.3 ส่วนหนึ่งเนื่องจากรายได้เกษตรกรดีขึ้นตามผลผลิตยางพาราที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนบางส่วนเริ่มมีการจับจ่ายใช้สอยและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้น สอดคล้องกับภาคการค้าที่หดตัวน้อยลง โดยเฉพาะการค้าปลีกรถยนต์ อย่างไรก็ตามยอดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า และการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคทรงตัว เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมือง ประกอบกับภาระหนี้สินอยู่ในระดับสูง จึงยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับร้อยละ 29.1 ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 50 สำหรับภาคบริการ อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 43.1 ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 45.7 สอดคล้องกับรายได้ของธุรกิจภาคบริการที่ลดลง

ด้านการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.1 แต่ปรับตัวดีขึ้นบ้างจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 5.7 ตามภาคการก่อสร้างที่หดตัวน้อยลง ทั้งการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์ ประกอบกับการก่อสร้างเพื่อการบริการก็เพิ่มขึ้นจากธุรกิจโรงพยาบาลของเอกชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ นักลงทุนบางส่วนเริ่มทยอยลงทุนตามแผนการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะธุรกิจด้านพลังงานทางเลือก สะท้อนจากเงินลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมตั้งใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 1.4 เท่า และยังขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนการใช้จ่ายของรัฐ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.7 แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตามการ

เบิกจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำหรับรายจ่ายงบลงทุนลดลงโดยเฉพาะในหมวดครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้างสำหรับการผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.6 แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน จากด้านผลผลิตเป็นสำคัญ โดยดัชนีผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.4 และขยายตัวจากเดือนก่อน ตามผลผลิตยางพาราที่มีพื้นที่กรีดได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกในหลายปีก่อน ส่วนดัชนีราคาพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ8.7 และหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ทั้งราคาข้าวและยางพาราที่ลดลงตามทิศทางราคาในตลาดโลก เนื่องจากอุปทานส่วนเกินเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ราคามันสำปะหลังยังคงลดลง ถึงแม้ความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศยังมีต่อเนื่อง

ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ12.9 จากที่เพิ่มขึ้นในเดือนก่อน เป็นผลจากการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัวเป็นสำคัญเนื่องจากการบริโภคลดลง ส่งผลให้สต็อกสินค้าสูงขึ้น สำหรับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) และการผลิตน้ำตาลชะลอลง จากความต้องการของตลาดส่งออกที่ลดลง

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2557 ธนาคารพาณิชย์ มีเงินฝากคงค้าง 610.0 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 แต่ทรงตัวจากเดือนมีนาคม ตามเงินฝากประจำและเงินฝากกระแสรายวันที่ลดลง ขณะที่เงินฝากออมทรัพย์เพิ่มขึ้น ด้านสินเชื่อคงค้าง 789.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.2 และยังคงชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินเชื่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจส่วนหนึ่งเป็นผลจากธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการให้สินเชื่อตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีเงินฝากคงค้าง 357.8 พันล้านบาท และสินเชื่อคงค้าง 949.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.3 ทั้งเงินฝากและสินเชื่อ แต่ชะลอตัวจากเดือนมีนาคม ตามธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ยังอยู่ในระดับปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 3.20 เร่งขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากผลของการปรับราคาค่าไฟฟ้า (ค่า Ft) ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาเชื้อเพลิงหุงต้มในบ้านที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคในและนอกบ้านเร่งขึ้นต่อเนื่อง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.22 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคในและนอกบ้านสำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ