แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมิถุนายน 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 31, 2014 13:53 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 12/2557

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมิถุนายน 2557 เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก ประกอบกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นทั้งงบประจำและงบลงทุน ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้ภาคการค้าหดตัวน้อยลง และภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว อย่างไรก็ตาม การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนโดยรวมยังคงลดลงตามรายได้เกษตรกร และการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวตามภาคการก่อสร้าง สำหรับอัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากอาหารสาเร็จรูปบริโภคในบ้านและราคาพลังงาน ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.5 ซึ่งลดลงเท่ากับเดือนก่อน ตามรายได้เกษตรกรที่ลดลงจากราคาพืชผลสำคัญ และความกังวลจากภาระหนี้ครัวเรือน ทำให้ประชาชนบางส่วนยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มมีความชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 38.0 โดยปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมากจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 29.1 สอดคล้องกับภาคการค้า โดยดัชนีการค้าหดตัวน้อยลงตามการค้าส่งที่ขยายตัวสะท้อนถึงการสะสมสต็อกของผู้ประกอบการเพื่อรองรับการบริโภคที่คาดว่าจะดีขึ้นในระยะต่อไป โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ประกอบกับการค้าปลีกสินค้าจาเป็น และการค้าในห้างสรรพสินค้าขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ถึงแม้ว่าการค้าปลีกโดยรวมยังคงหดตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ เป็นผลจากการค้าปลีกสินค้าคงทนทั้งการค้ารถยนต์ที่หดตัวจากผลของฐานในปีก่อน และการค้าปลีกวัสดุก่อสร้างที่หดตัว ตามความต้องการที่อยู่อาศัยสอดคล้องกับการลงทุนภาคการก่อสร้างที่หดตัว สาหรับภาคบริการ รายได้ของธุรกิจภาคบริการเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 42.8 ต่ากว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 45.1

ด้านการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.8 และหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามภาคการก่อสร้างเป็นสาคัญ สะท้อนจากพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างยังคงลดลงทั้งการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์ อย่างไรก็ดี การลงทุนในระยะต่อไปเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นสะท้อนจากเงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 93.0 หลังจากที่หดตัวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนของปีก่อน

การใช้จ่ายของรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.9 และปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายของทางการเพิ่มขึ้นทั้งด้านรายจ่ายงบประจาและงบลงทุนโดยเฉพาะรายจ่ายหมวดเงินเดือน เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ค่าใช้สอย ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง

ภาคเกษตร ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.4 จากที่เพิ่มขึ้นในเดือนก่อน ตามการลดลงของราคาพืชผลเป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.6 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ทั้งราคายางพารา ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวที่ลดลงตามราคาในตลาดโลก กอปรกับผลผลิตส่วนเกินยังมีมาก ส่วนราคามันสำปะหลังหดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากปีนี้ไม่มีโครงการแทรกแซงราคาของภาครัฐสำหรับดัชนีผลผลิตพืชสาคัญเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.4 และขยายตัวจากเดือนก่อนตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตยางพาราเป็นสำคัญ

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.4 หลังจากที่หดตัวในเดือนก่อน เป็นผลจากการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ตามความต้องการของผู้ค้าส่งที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับเทศกาลการแข่งขันฟุตบอลโลก ขณะที่การผลิตเพื่อการส่งออกหดตัวทั้งการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) และการผลิตน้ำตาล จากความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ชะลอลง

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2557 ธนาคารพาณิชย์ มีเงินฝากคงค้าง 605.1 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.5 โดยขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนเมษายน เป็นผลจากเงินฝากออมทรัพย์ขยายตัว ขณะที่เงินฝากประจาและเงินฝากกระแสรายวันหดตัว ด้านสินเชื่อคงค้าง 790.1 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.5 แต่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังคงระมัดระวังในการให้สินเชื่อ จากภาระหนี้ของประชาชนที่ยังอยู่ในระดับสูง สาหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีเงินฝากคงค้าง 360.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.7 และขยายตัวจากเดือนเมษายน ตามเงินฝากของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ด้านสินเชื่อคงค้าง 953.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.7 แต่ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนเมษายน จากสินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ยังอยู่ในระดับปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 2.80 ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคในบ้าน เนื่องจากมีมาตรการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนมิถุนายน - พฤศจิกายน 2557 รวมทั้งการชะลอตัวของราคาพลังงาน จากการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.16 สาหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ