แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิถุนายน 2557 และไตรมาสที่ 2 ปี 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 4, 2014 14:32 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 7/2557

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนมิถุนายน 2557 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนเกือบทุกด้าน ภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายและนโยบายภาครัฐมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเพื่อการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่รายได้เกษตรกรปรับดีขึ้น และชาวนาได้รับเงินค้างจ่ายโครงการรับจำนำข้าวแล้ว ขณะที่การท่องเที่ยวชะลอลงตามฤดูกาลและได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมืองบ้าง แต่ปรับตัวดีขึ้นช่วงปลายเดือน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อชะลอลง ด้านธนาคารพาณิชย์ เงินฝาก และสินเชื่อชะลอตัว

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมี ดังนี้

ภาคอุปสงค์ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่ยังหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.7 ปรับดีขึ้นจากลดลงร้อยละ 5.4 ในเดือนก่อนหน้า ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับดีขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งเกษตรกรมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นบ้างภายหลังได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลให้ยอดจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคขยายตัว ประกอบกับยอดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ากลับมาขยายตัวจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ด้านดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 1.7 ปรับดีขึ้นจากลดลงร้อยละ 4.5 ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากเครื่องชี้สำคัญเพิ่มขึ้น อาทิ ปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างตามการก่อสร้างโครงการต่อเนื่องของภาครัฐ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล และมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ ประกอบกับยอดการจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์หดตัวน้อยลง สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณผ่านคลังจังหวัด มีจำนวน 14,236.5 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผลกระทบทางการเมืองในช่วงก่อนหน้า

การส่งออกมีมูลค่า 433.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ และสินค้าเกษตร อาทิ เนื้อสัตว์แช่แข็ง และผลไม้ ไปยังตลาดในกลุ่มอาเซียน ยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา ประกอบกับการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านด่านชายแดนขยายตัวดีทุกตลาด ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 131.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำหรับส่งออก

ภาคอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเร่งตัวร้อยละ 13.6 และ 16.2 จากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน ตามการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์สื่อสารและยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์สำนักงาน และเซรามิก จากความต้องการของตลาดญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และอาเซียน ประกอบกับการผลิตเลนส์กล้องถ่ายภาพได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศยังหดตัว ตามการผลิตเครื่องดื่ม และสินค้าเกษตรแปรรูป อย่างไรก็ดี การผลิตวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นตามการก่อสร้างของภาครัฐ

ส่วนรายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 7.6 แต่ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน เป็นผลจากผลผลิตสินค้าเกษตรเร่งตัวจากเดือนก่อนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามผลผลิตอ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกอบกับผลผลิตลำใย และลิ้นจี่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย แม้ราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 12.0 ตามราคาข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และลิ้นจี่ แต่ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามราคาปศุสัตว์โดยเฉพาะสุกรที่อยู่ในเกณฑ์ดี สำหรับดัชนีค้าปลีกหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.5 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนตามการขยายตัวของยอดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหาร ผักผลไม้สด และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ภาคการท่องเที่ยวลดลงจากเดือนก่อนตามฤดูกาล เนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมือง แต่ปรับดีขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาจัดประชุมสัมมนาและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) ประกอบกับมีการสอบคัดเลือกของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในจังหวัดเชียงใหม่

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเหลือร้อยละ 2.3 ตามการปรับลดราคาน้ำมันเชื้อเพลง และอาหารสด เช่น ผักผลไม้ เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงานปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อนเป็นร้อยละ 1.2 ส่วนจานวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมชะลอลง

ภาคการเงินขยายตัวชะลอลง โดยเงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 มียอดคงค้าง 587,680 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.2 ชะลอต่อเนื่องจากเดือนก่อน แม้ธนาคารพาณิชย์เริ่มทยอยออกผลิตภัณฑ์เงินฝาก เพื่อรักษาฐานลูกค้าและบริหารเงินฝากให้เติบโตสอดคล้องกับเงินให้สินเชื่อ แต่ลูกค้าบางส่วนยังไปลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 571,774 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.7 ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ตามการชะลอลงของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลโดยเฉพาะเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อธุรกิจภาคเอกชน

ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยด้านอุปสงค์ปรับดีขึ้นเล็กน้อย ภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองและแนวนโยบายภาครัฐมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาส ประกอบกับชาวนามีกาลังซื้อเพิ่มขึ้นภายหลังได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว และมีสัญญาณการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนซึ่งหดตัวน้อยลง แต่มีแรงกดดันจากผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่าย และภาระหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ด้านการส่งออกขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐทาได้จากัด เนื่องจากผลกระทบจากการเมืองในช่วงก่อนหน้า ด้านอุปทานชะลอลง โดยการผลิตสินค้าเกษตรหดตัวตามผลผลิตข้าวนาปรังและอ้อยโรงงาน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ประกอบกับราคาพืชเกษตรสาคัญลดลง ทำให้รายได้เกษตรกรลดลงมาก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวชะลอลงจากผลกระทบสถานการณ์ทางการเมือง อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากความต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจของภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์ดี จากอัตราเงินเฟ้อ และการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ส่วนเงินฝาก และเงินให้สินเชื่อชะลอลง

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : กุศล จันทร์แสงศรี

โทร. 0 5393 1164 e-mail : Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ