สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 3 ปี 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 4, 2014 13:26 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 20/2557

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 3 ปี 2557 การฟื้นตัวยังไม่ชัดเจน แม้ว่าความเชื่อมั่นในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้นทาให้การอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นและการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนก็ตาม เนื่องจากการผลิตภาคเกษตรซึ่งเป็นสาขาเศรษฐกิจหลักลดลงทั้งปริมาณและราคาส่งผลให้รายได้เกษตรกรและรายได้จากการส่งออกลดลง ประกอบกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลงตามความต้องการของตลาดหลักและปริมาณวัตถุดิบที่ลดลง ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนยังรอประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำอัตราเงินเฟ้อชะลอลงตามราคาอาหารสดและพลังงาน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้นเรียกความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับคืนมา ส่งผลให้ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.9 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อน ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ยังไม่ฟื้นตัวจากการเร่งซื้อในช่วงก่อนหน้าและภาระหนี้สูงขึ้น ประกอบกับรายได้จากภาคเกษตรลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย

ขณะที่ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.6 เนื่องจากผู้ประกอบการยังรอประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยเครื่องชี้สาคัญยังคงลดลงทั้งมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน ยอดการจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลอย่างไรก็ตามผู้ประกอบการเริ่มมีการวางแผนการลงทุนในปีหน้ามากขึ้น ประกอบกับโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนสามารถเดินหน้าต่อได้หลังจากถูกเลื่อนออกไปจากความล่าช้าในการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอลงจากไตรมาสก่อน โดยขยายตัวร้อยละ 4.4 แม้ว่าการผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องที่เร่งตัวขึ้นในตลาดตะวันออกกลางและสหรัฐอเมริกา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำเนื่องจากความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางปีก่อนและความต้องการบริโภคในสหรัฐอเมริกาค่อย ๆ ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปเพิ่มขึ้นหลังจากลดลงติดต่อกันมา 6 ไตรมาส เป็นผลจากการผลิตที่ขยายตัวในผลิตภัณฑ์ปลาและปลาหมึก ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปมีการเร่งซื้อก่อนที่ไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป นอกจากนี้การผลิตถุงมือยางและไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นตามคำสั่งซื้อจากตลาดหลัก ขณะที่การผลิตยางแปรรูปลดลงต่อเนื่อง ตามคำสั่งซื้อของมาเลเซีย ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ส่วนตลาดหลักจีนยังคงนำเข้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการผลิตล้อยางตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ สำหรับการผลิตน้ำมันปาล์มดิบลดลงตามปริมาณวัตถุดิบที่เข้าโรงงาน

ภาคการท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 1.5 ล้านคน หดตัวร้อยละ 5.9 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อปรับปัจจัยฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 1.6 จากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะฝั่งอันดามันเป็นผลจากภาครัฐมีการเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความมั่นใจต่อสถานการณ์การเมืองและมีแรงหนุนจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลกินเจ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนและรัสเซียเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบจากการใช้ประกาศกฎอัยการศึก ทาให้หลายประเทศยังคงระดับการเตือนภัยมาประเทศไทย

อย่างไรก็ตามรายได้เกษตรลดลงจากผลทั้งด้านราคาและปริมาณ โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 19.2 ตามราคายางพาราที่ยังเผชิญกับปัจจัยลบจากผลผลิตโลกมีมากกว่าความต้องการใช้ และการระบายสต็อกยางในประเทศยังไม่มีความชัดเจน ทางด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 8.6 ตามผลผลิตยาง ปาล์มน้ามันและกุ้งขาวที่ลดลง ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรลดลงร้อยละ 26.2 และมีผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 7.3 จากปริมาณและราคายางที่ลดลงเป็นสำคัญ

การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.1 ทั้งรายจ่ายประจาและรายจ่ายลงทุน แต่ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อน ขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ตามการจัดเก็บภาษีในหมวดภาษีมูลค่าเพิ่มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีสุราและเครื่องดื่ม รวมทั้งภาษีการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์

ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2557 เงินฝากและเงินให้สินเชื่อชะลอลงต่อเนื่องจากในไตรมาสก่อนโดยสินเชื่อชะลอตัวทั้งสินเชื่อธุรกิจและอุปโภคบริโภค

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.26 ชะลอลงจากหมวดอาหารสดที่ผลผลิตผักและผลไม้ออกสู่ตลาดมากและราคาพลังงานที่ชะลอลงตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาตลาดโลกประกอบกับนโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของภาครัฐ ทำให้ราคาขายปลีกน้ามันเชื้อเพลิงปรับลดลง

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 0 7427 2000 ต่อ 4716

e-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ