ฉบับที่ 19/2557
ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนตุลาคม 2557 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ขยับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน กอปรกับ การใช้จ่ายของภาครัฐที่ขยายตัว ส่งผลให้ภาคบริการและการค้าปรับตัวดีขึ้น ทำให้การลงทุนภาคเอกชน เริ่มมีสัญญาณการหดตัวน้อยลง และสนับสนุนให้การลงทุนในระยะต่อไปมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อจากเกษตรกรยังคงหดตัวตามราคาพืชผลเป็นสำคัญ สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ยังอยู่ในระดับปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.70 และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ที่ร้อยละ 0.6
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.0 แต่เริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สูงขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ ที่ระดับ 50.6 และเป็นเดือนแรกในรอบปีที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแตะระดับ 50 สอดคล้องกับภาคการค้า โดยดัชนีการค้าลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.1 แต่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการค้าส่งวัตถุดิบทางการเกษตร เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน เนื่องจากผู้ค้าส่งมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจมากขึ้น จึงสต็อกสินค้าเพื่อรองรับการบริโภคที่คาดว่าจะดีขึ้น ประกอบกับการค้าปลีกในห้างสรรพสินค้ายังขยายตัว อยู่ในเกณฑ์ดี ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ภาคบริการ ปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 45.0 สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 43.7 และรายได้ภาคบริการยังขยายตัว
การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.5 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนตามภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ สะท้อนจากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 92.9 จากการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ในจังหวัดนครราชสีมาเป็นสำคัญสำหรับความสนใจของนักลงทุนระยะต่อไปมีแนวโน้มปรับดีขึ้นชัดเจนสะท้อนจากเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนกว่า 1.6 เท่าตัว จากหมวดบริการและสาธารณูปโภค และหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลทางการเกษตร
การใช้จ่ายของรัฐเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.5 เทียบกับเดือนก่อนที่ลดลง ร้อยละ 2.8 ทั้งนี้เป็นผลจากการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนโดยเฉพาะจากการโอนเงินอุดหนุนทั่วไปให้กับสำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และการเบิกจ่ายหมวดเงินเดือนเป็นสำคัญ
ภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.0 และหดตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากจำนวนผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรหดตัวมากขึ้น โดยดัชนีผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.3 ตามผลผลิตข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกลดลง ขณะที่ดัชนีราคาพืชสำคัญหดตัวมากขึ้นจากราคายางพาราและข้าวตามแนวโน้มราคาตลาดต่างประเทศอย่างไรก็ดี ราคามันสำปะหลังหดตัวน้อยลงเป็นลำดับ ตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.5 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากโรงงานผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลดการผลิต หลังจากเร่งผลิต ในเดือนที่แล้วขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) กลับมาขยายตัวจากที่หดตัวในเดือนก่อน ตามการส่งออกที่เริ่มฟนตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับการผลิตน้ำตาลทรายขาวยังคงขยายตัว จากความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 ธนาคารพาณิชย์ เงินฝากคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.8 แต่ชะลอลงจากเดือนสิงหาคมตามเงินฝากประจำและกระแสรายวันของส่วนราชการ เป็นสำคัญด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.0 แต่ชะลอลงอย่างต่อเนื่องทั้งสินเชื่อที่ให้กับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการให้สินเชื่อ ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เงินฝากคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.0 แต่ชะลอลงจากเดือนสิงหาคม ตามเงินฝากส่วนราชการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.6 แต่ชะลอลงจากเดือนสิงหาคมตามสินเชื่อของธนาคารออมสินเป็นสำคัญ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.70 และยังคงชะลอลงจากเดือนก่อน ตามราคาสินค้าในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากการปรับลดราคาขายปลีกตามนโยบายของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2557 ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โดยเฉพาะราคาผักสดที่ลดลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และผลของการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นเวลา 6 เดือน ที่เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน 2557 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.09 ยังคงชะลอลงจากเดือนก่อน สำหรับอัตรา การว่างงาน อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค
โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410 E-mail: [email protected]
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย