การจัดประชุมชี้แจงแนวทางการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 18, 2015 10:01 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 30/2558

นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าในวันนี้ ธปท. ได้เชิญผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (P-loan) ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้วทั้งสิ้น 34 ราย ในจำนวนนี้ประกอบธุรกิจแล้ว 29 ราย และยังไม่เปิดดำเนินธุรกิจ 5 รายดังรายชื่อตามแนบ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแล โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. การเปิดดำเนินการ : สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาต และยังไม่ได้เปิดดำเนินการ จะต้องเปิดดำเนินธุรกิจภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอนุญาต และแจ้งการเริ่มประกอบธุรกิจให้ธปท. ทราบก่อนวันเปิดดำเนินการ

2. การจัดหาเงินทุน : ห้ามผู้ประกอบธุรกิจรับเงินฝากหรือจัดหาเงินทุนจากประชาชน เช่นเดียวกับข้อห้ามของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano Finance) เว้นแต่เป็นการออกหุ้นกู้ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

3. การให้สินเชื่อแก่ผู้ที่สนใจกู้เงิน: ผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้สินเชื่อแก่บุคคลธรรมดาที่ไม่มีหลักประกันซึ่งไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์ หรือมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ และสามารถให้วงเงินสูงสุดแก่ผู้ขอกู้เงินแต่ละรายได้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของผู้ขอกู้เงิน โดยผู้ประกอบธุรกิจควรจัดให้มีเอกสารหลักฐานเพื่อพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้และพิสูจน์รายได้ของผู้ขอกู้เงินได้อย่างชัดเจน โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจะอยู่ในดุลพินิจของผู้ประกอบธุรกิจ

4. การจัดทำรายงานส่งทางการ : ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดทำรายงานยอดสินเชื่อคงค้างเป็นรายเดือนส่งให้ธปท. และกระทรวงการคลังทราบภายในวันที่ 21 ของเดือนถัดไป

5. การประชาสัมพันธ์และติดต่อลูกค้า : ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้บริโภค ได้แก่ 1. สิทธิที่ลูกค้าจะได้รับข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง สามารถนำไปเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการตัดสินใจได้ 2. สิทธิที่ลูกค้าจะเลือกใช้บริการหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจเสนอให้ 3. สิทธิที่ลูกค้าจะสามารถร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้บริการจากผู้ประกอบธุรกิจ ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจควรมีกระบวนการจัดการข้องร้องเรียนได้อย่างเหมาะสม 4. สิทธิที่ลูกค้าจะได้รับการพิจารณาค่าชดเชยความเสียหาย หากพิสูจน์แล้วว่าผู้ประกอบธุรกิจจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย

6. กระบวนการติดตามทวงถามหนี้ : ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีกระบวนการติดตามทวงถามหนี้ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558

7. อื่น ๆ : ในอนาคต ธปท. มีแนวทางให้ผู้ประกอบธุรกิจยื่นขออนุญาตทำธุรกรรม หรือข้อหารืออื่น ๆ เพิ่มเติมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-application) เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาคำขอต่อไป

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม : ฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน

โทรศัพท์ : 02-283-5828 , 02-283-6837

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ