สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนพฤษภาคม ปี 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 30, 2015 14:46 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 13/2558

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนพฤษภาคม 2558 โดยรวมชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากรายได้ ภาคเกษตรปรับฤดูกาลแล้วลดลงจากด้านผลผลิตเป็นสำคัญ รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังคงอ่อนแอและครัวเรือนยังระมัดระวังการใช้จ่าย อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกยังเป็นภาคการท่องเที่ยวที่เร่งตัวและการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้นบ้าง ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราการว่างงานใกล้เคียงกับเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ส่วนเงินให้สินเชื่อเดือนเมษายนทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

เศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมชะลอลงจากเดือนก่อน จากดัชนีรายได้เกษตรกรเมื่อปรับฤดูกาลแล้วลดลงจากด้านผลผลิตยางเป็นสำคัญ เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งทำให้เปิดกรีดได้ล่าช้า รวมทั้งนโยบายทวงคืนผืนป่าและนโยบายลดพื้นที่ปลูกยางของภาครัฐ อย่างไรก็ดีอุปทานยางที่ลดลงส่งผลบวกให้ราคามีทิศทางดีขึ้น เช่นเดียวกับราคากุ้งที่ปรับเพิ่มขึ้นจากการชะลอจับกุ้งขายของเกษตรกร เพื่อรอมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐในการชดเชยส่วนต่างราคากุ้งให้แก่เกษตรกร ทั้งนี้ หากเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนดัชนีราคาสินค้าเกษตรยังคงลดลงจากทั้งราคายางและกุ้งขาวที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปาล์มน้ามันและ กุ้งขาวที่ฟื้นตัวจากโรคระบาดก็ตาม ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรลดลง

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ เนื่องจากมีการส่งเสริมการขายเชิงรุกมากขึ้น อย่างไรก็ตามรายได้เกษตรกรยังอยู่ในระดับต่ำทำให้ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย สะท้อนจากยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวจากเดือนก่อน หากเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนดัชนีการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นจากการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยายตัวต่อเนื่องตามราคาน้ำมันที่ลดลง รวมทั้งการใช้จ่ายในภาคบริการที่ปรับดีขึ้นจากการท่องเที่ยวและขนส่ง ส่วนเครื่องชี้ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว ทั้งการขออนุญาตพื้นที่ก่อสร้าง ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ และการจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล

การท่องเที่ยวขยายตัวจากเดือนก่อนและเดือนเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาครัฐและเอกชนร่วมมือจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 ประกอบกับฐานต่ำจากเดือนเดียวกันปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศกฎอัยการศึกและเหตุการณ์ระเบิดในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่

การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ การเบิกจ่ายงบลงทุนยังคงขยายตัวต่อเนื่องเพื่อให้เม็ดเงินกระจายสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะในหมวดที่ดิน สิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ จากการเบิกจ่ายของกรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวง และกรมทรัพยากรน้ำ ส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรลดลงทั้งภาษีสรรพากร ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร อย่างไรก็ตามภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากกิจการผลิตปูนซีเมนต์ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและร้านขายปลีกวัสดุก่อสร้าง ยังคงเร่งตัวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านงบลงทุนของภาครัฐ

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหดตัวตามการผลิตถุงมือยางที่ลดลงจากตลาดสหรัฐอเมริกา และการผลิตน้ำมันปาล์มดิบมีปริมาณวัตถุดิบเข้าโรงงานลดลง ส่วนการผลิตยางแปรรูปเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดจีน ขณะเดียวกันการผลิตอาหารทะเลกระป๋องเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการเร่งผลิตตามคำสั่งซื้อก่อนเข้าสู่ช่วงการห้ามใช้อุปกรณ์บางประเภทจับปลาในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมซึ่งจะมีผลให้ราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น และการผลิตอาหารทะเลแช่แข็งเพิ่มขึ้นตามปริมาณวัตถุดิบกุ้งที่เพาะเลี้ยงได้มากขึ้น ประกอบกับความต้องการจากตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลจากการที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ทำให้สหภาพยุโรปมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจึงนำเข้า อาหารทะเลแช่แข็งจากไทยลดลง

การส่งออก เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนลดลง ตามมูลค่าการส่งออกยางแปรรูป อาหารบรรจุกระป๋อง ถุงมือยางและไม้ยางพาราแปรรูป ส่วนการนำเข้าใกล้เคียงกับเดือนเดียวกันปีก่อน แม้การนำเข้าอุปกรณ์ก่อสร้าง ยางสังเคราะห์ และน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงก็ตาม เนื่องจากมีการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อใช้ในกิจการปิโตรเลียมมากขึ้น

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 1.67 หดตัวเป็นเดือนที่ 5 ตามราคาพลังงานและอาหารสด โดยราคาพลังงานหดตัวจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและค่ากระแสไฟฟ้าที่ปรับลดลงตามค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ในรอบเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2558 ส่วนราคาอาหารสดลดลงตามปริมาณเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ และไข่ที่ออกสู่ตลาดมาก ด้านอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ลดลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 1.3 ในเดือนเดียวกันปีก่อน โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคการก่อสร้าง การค้าและบริการ

ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับสถาบันการเงินเพิ่มมาตรฐานการให้สินเชื่อ ส่งผลให้เงินให้สินเชื่อ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2558 ทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านเงินฝากปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย เป็นผลจากเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำปรับตัวดีขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย สานักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 0 7427 2000 ต่อ 4716

E-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ