สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนกันยายน ปี 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 30, 2015 09:38 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 21/2558

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนกันยายน 2558 โดยรวมชะลอลงจากเดือนก่อน ภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายงบลงทุนของภาครัฐ ยังเป็นแรงส่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ แต่อุปสงค์ยังอ่อนแอทั้งการบริโภคและการลงทุน เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรยังถูกกดดันจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ สะท้อนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่ำสุดในรอบ 20 เดือน รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากอุปสงค์ที่ชะลอลงและข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงลดลงตามราคาพลังงาน ส่วนอัตราการว่างงานปรับ ดีขึ้นโดยมีการว่างงานเพิ่มขึ้นในภาคการผลิตและบริการ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวเอเชียเป็นสำคัญ สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นทั้งฝั่งอันดามัน อ่าวไทย และภาคใต้ตอนล่าง อย่างไรก็ตามหากปรับฤดูกาลแล้วนักท่องเที่ยวจีนชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากความไม่มั่นใจและกังวลต่อสถานการณ์ระเบิดที่กรุงเทพฯ แต่คาดว่าเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น ส่วนนักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีวันหยุดในช่วงเทศกาลฮารีรายอ

การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐเดือนนี้ขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 เดือน ตามการเบิกจ่ายงบลงทุนที่มีการเร่งเบิกจ่ายเงินก่อนสิ้นปีงบประมาณ โดยการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง จากการเบิกจ่ายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมชลประทาน และกรมทางหลวง สำหรับรายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้นตามการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ ขณะที่ภาษีสุรา ภาษีน้ามัน และภาษีเครื่องดื่ม จัดเก็บได้ลดลง

รายได้เกษตรกรยังอยู่ในระดับต่ำจากแรงกดดันด้านราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงทั้งยาง ปาล์มน้ามัน และกุ้งขาว โดยราคายางได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีมากกว่าคาด ประกอบกับสต็อกยางในตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ปรับเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบของไทยอยู่ในระดับสูงกว่า 4 แสนตัน ขณะเดียวกันผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น กดดันให้ราคาปาล์มน้ำมันลดลง ด้านราคากุ้งขาวยังคงได้รับผลกระทบจากคู่แข่งที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน และส่วนหนึ่งเป็นผลจากเกษตรกรไทยจับกุ้งขนาดเล็กออกจำหน่ายเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรค สวนทางกับความต้องการกุ้งขนาดใหญ่ ทำให้ราคาลดลง

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังอ่อนแอโดยเฉพาะยอดขายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและบริการซึ่งสะท้อนถึงครัวเรือนยังมีความระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรยังหดตัว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคใต้ลดมาอยู่ที่ระดับ 21.4 ต่ำสุดในรอบ 20 เดือน อย่างไรก็ตามการเปิดตัวรถรุ่นใหม่สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ได้ระดับหนึ่ง และราคาน้ำมันที่ลดลงสนับสนุนการใช้จ่ายในหมวดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว โดยเฉพาะพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลที่ผู้ประกอบการรอประเมินการฟื้นตัวของอสังหาริมทรัพย์ และยังไม่เห็นสัญญาณในการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อการลงทุนใหม่

การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันปีก่อน จากอุปสงค์คู่ค้าหลักลดลง อาทิ จีน ตะวันออกกลาง และญี่ปุ่น ที่นาเข้ายางแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปลดลง ตามลำดับ นอกจากนี้อาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปยังขาดแคลนวัตถุดิบจากการที่อินโดนีเซียยกเลิกการให้สัมปทานเรือต่างชาติ และการออกกฎระเบียบของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการทาประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU) ทำให้เรือประมงออกเรือได้น้อยลง รวมทั้งการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดกุ้งให้แก่ประเทศคู่แข่ง ส่วนการผลิตไม้ยางแปรรูปยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการโค่นยางเก่าเพื่อลดอุปทานยางและมีคำสั่งซื้อจากจีนต่อเนื่องเพื่อใช้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ สำหรับการผลิตน้ามันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นตามปริมาณวัตถุดิบเข้าโรงงาน

ด้านการส่งออกเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหดตัวจากทั้งด้านปริมาณและราคา ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงทั้งยาง ไม้ยางแปรรูป ถุงมือยาง และสัตว์น้า ด้านมูลค่าการนาเข้าลดลงทุกหมวด ได้แก่เครื่องจักรอุปกรณ์ อุปกรณ์ก่อสร้าง สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงตามราคาตลาดโลก

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานปรับฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 0.85 ดีขึ้นจากร้อยละ 1.23 ในเดือนก่อน ตามการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในภาคการผลิตและบริการ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบที่ร้อยละ 1.39ตามราคาพลังงานที่ลดลง ส่งผลให้มีการปรับลดค่ากระแสไฟฟ้าและราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีลง

ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2558 ยอดเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนลดลงร้อยละ 0.3 จากเงินฝากประจำและบัตรเงินฝากที่ลดลง ด้านเงินให้สินเชื่อหดตัวร้อยละ 4.4 เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงการบันทึกบัญชีไปยังสำนักงานใหญ่ของสถาบันการเงินบางแห่ง อย่างไรก็ตามภาพรวมการให้สินเชื่อมีทิศทางดีขึ้น ส่วนสถาบันการเงินเฉพาะกิจมียอดเงินฝากและเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 และ 9.9 ตามลำดับ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สานักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 0 7427 2000 ต่อ 4716

E-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ