สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนพฤศจิกายน ปี 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 30, 2015 15:47 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 25/2558

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนพฤศจิกายน 2558 โดยรวมอ่อนตัวลง โดยเฉพาะภาคเกษตรที่รายได้หดตัวมากขึ้นจากทั้งด้านผลผลิตและราคาที่ลดลง ทำให้ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย สะท้อนจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอลงจากเดือนก่อน ขณะเดียวกันการส่งออกหดตัวมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องตามราคาพลังงานและอาหารสด อัตราการว่างงานใกล้เคียงกับเดือนก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้

รายได้เกษตรกรอยู่ในระดับต่ำ ตามผลผลิตยางและกุ้งขาวที่ลดลง ขณะเดียวกันราคาสินค้าเกษตรลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะยางพาราเหลือเพียงกิโลกรัมละ 38 บาท ต่ำสุดในรอบ 7 ปี เนื่องจากแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำ และสต็อกยางจีนยังอยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยลบต่อการฟื้นตัวของราคา ประกอบกับตลาดกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาจะส่งผลเชิงลบต่อสินค้าโภคภัณฑ์ ส่วนราคาปาล์มน้ำมันและกุ้งขาวถึงแม้ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน แต่ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการประกาศราคาแนะนำปาล์มน้ำมัน และความต้องการเพื่อผลิตไบโอดีเซลตามนโยบายขอความร่วมมือให้ผู้ค้าน้ำมันสำรองน้ำมันไบโอดีเซลเป็นชนิดบี 100 เพิ่มขึ้น ขณะที่กุ้งขาวราคาปรับเพิ่มตามความต้องการจากคู่ค้าเพื่อสำรองในช่วงเทศกาลปลายปี

การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกลดลงตามการผลิตยางพารา ถุงมือยาง สัตว์น้ำแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง เป็นผลจากอุปสงค์คู่ค้าที่ชะลอตัว ประกอบกับอุตสาหกรรมสัตว์น้ำแช่แข็งได้รับผลกระทบจากการที่อินโดนีเซียยกเลิกสัมปทานประมงแก่ต่างชาติ รวมทั้งความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ที่สหภาพยุโรปจะพิจารณาให้ใบแดงไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และประมงผิดกฎหมาย ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกหดตัวต่อเนื่องอย่างไรก็ตามการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปยังขยายตัวดี ตามความต้องการจากตลาดจีนและตะวันออกกลาง ส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นตามปริมาณวัตถุดิบ

แรงกดดันจากรายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอลง โดยสินค้าไม่คงทนชะลอตัวตามยอดขายที่ลดลงของห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ต อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายสินค้าคงทนปรับตัวดีขึ้นจากหมวดยานยนต์ที่มีการเร่งซื้อก่อนมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในปีหน้า มีผลให้ราคารถยนต์บางรุ่นสูงขึ้น นอกจากนี้การใช้จ่ายในหมวดเชื้อเพลิงยังขยายตัวได้ตามราคาน้ำมันที่ลดลง

ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนยังคงลดลง โดยเฉพาะการลงทุนด้านการก่อสร้าง จะเห็นได้จากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ลดลง มีเพียงยอดจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่ขยายตัว อย่างไรก็ตามมูลค่าเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอขยายตัวสูงจากการลงทุนด้านพลังงาน

การท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวทั้งฝั่งอันดามัน อ่าวไทย และภาคใต้ตอนล่าง ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวมาเลเซียและจีน เป็นสำคัญ สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้มีการเปิดเส้นทางบินใหม่ระหว่าง เฉิงตู-สุราษฎร์ธานี และ ฮ่องกง-กระบี่

การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวทั้งการเบิกจ่ายประจำและงบลงทุน โดยการเบิกจ่ายงบลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้เริ่มทยอยเบิกจ่ายตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ งบลงทุนตำบลละ 5 ล้านบาท และการลงทุนขนาดเล็ก รวมทั้งแผนพัฒนาน้ำและถนนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ด้านรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรลดลงตามการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นสำคัญ เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.02 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ตามการจ้างงานในสาขาการค้า ขณะที่แรงงานเคลื่อนย้ายออกจากภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยลดลงร้อยละ 1.65 ตามราคาพลังงาน และราคาผักผลไม้ที่ปรับลดลงหลัง พ้นเทศกาลกินเจ

ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2558 ยอดเงินฝากของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในภาคใต้เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนขยายตัว จากการเร่งระดมเงินฝากเพื่อบริหารสภาพคล่องสำหรับปล่อยสินเชื่อในปีหน้าที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านเงินให้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ลดลงตามการหดตัวของเงินให้กู้ เนื่องจากสถาบันการเงินบางแห่งมีการเปลี่ยนแปลงระบบการบันทึกบัญชี โดยโอนสินเชื่อไปบันทึกบัญชีที่สำนักงานใหญ่ ส่วนสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวตามสินเชื่อบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นสำคัญ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 0 7427 2000 ต่อ 4716

E-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ