แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนมีนาคม 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 30, 2015 14:23 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 7/2558

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ เดือนมีนาคม 2558 ภาพรวมทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรลดลงจากภาวะภัยแล้ง อย่างไรก็ดี การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยวและการส่งออกผ่านด่านชายแดนยังเป็นแรงส่งที่สำคัญ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจในภาคเหนือโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำและอัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมีดังนี้ ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 ส่วนสำคัญมาจากการบริโภคในกลุ่มสินค้าจำเป็นจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลงมากในช่วงก่อนหน้า สนับสนุนให้มีการใช้จ่ายในหมวดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนส่วนใหญ่ยังหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยรายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังลดลง

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยดัชนี หดตัวน้อยลงเหลือร้อยละ 4.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ ยังไม่มีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นชัดเจนและเครื่องชี้สำคัญ เช่น พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ลดลง แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนบางส่วน ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างตามการก่อสร้างของภาครัฐและเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมจาก BOI เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ผลผลิตทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรยังลดลงต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ลดลงมากที่ร้อยละ 11.9 เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังและอ้อยได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 1.6 ตามราคาหอมหัวใหญ่ ถั่วเหลืองและอ้อย ประกอบกับราคาปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่พันธุ์เนื้อและไข่ไก่ยังลดลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกร ลดลงร้อยละ 13.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน

ด้านดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 3.0 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามผลผลิตอาหารแปรรูปสินค้าเกษตรที่วัตถุดิบทั้งข้าวและอ้อยได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง รวมถึงผลผลิตสิ่งทอและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังลดลง อย่างไรก็ดี การผลิตเครื่องดื่มยังเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว เนื่องจากเร่งผลิตเพื่อรองรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์และจากข่าวการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตและการปรับปรุงพระราชบัญญัติควบคุมใหม่

ปัจจัยที่เป็นแรงส่งสำคัญในเศรษฐกิจภาคเหนือ ได้แก่ การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 112.6 ตามการปรับปรุงและซ่อมสร้างโครงข่ายถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท รวมทั้งการซ่อมแซมระบบชลประทานและพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทาน โดยส่วนใหญ่เร่งตัวในเกณฑ์สูงมาโดยตลอด

ภาคการท่องเที่ยว ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนยังเดินทางเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับส่วนราชการยังมีการจัดประชุมสัมมนาเพิ่มขึ้นในหัวเมืองสำคัญ ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานและอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยปัญหาหมอกควันไม่ส่งผลต่อการยกเลิกการจองห้องพักของนักท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ

ด้านการส่งออก มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 ตามการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านด่านชายแดนที่ยังขยายตัวดี โดยเฉพาะเมียนมาที่เร่งนำเข้าสินค้าก่อนช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่การส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยังลดลง ตามอุปสงค์จากต่างประเทศ ด้านการนำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการว่างงานทรงตัวเท่ากับเดือนก่อนที่ร้อยละ 0.8 ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำและราคาอาหารสดชะลอลง ตามปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ ไก่และไข่ไก่

ภาคการเงิน เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มียอดคงค้าง 608,063 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นการถอนเงินฝากของส่วนราชการเพื่อนำไปใช้ในโครงการต่างๆ และเงินฝากบางส่วนไม่ฝากต่อเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยไม่จูงใจ ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 595,494 ล้านบาท (ประมาณการ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยยังมีความต้องการสินเชื่อเพื่อหมุนเวียนของธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง อุตสาหกรรมการผลิตและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 0 5393 1164 e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ