แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนมิถุนายน 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 31, 2015 14:36 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 11/2558

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ เดือนมิถุนายน 2558 ยังชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนแม้ภาคท่องเที่ยว การใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐ และการส่งออกผ่านด่านชายแดนยังเป็นแรงส่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจภาคเหนือ แต่อุปสงค์ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนซบเซาต่อเนื่อง ผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังลดลง นอกจากนี้ การผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเครื่องดื่มที่เร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มลดลงตามการส่งออก สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจในภาคเหนือโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันและอาหารสด ด้านอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการจ้างงานภาคเกษตรลดลง แต่ชดเชยจากการจ้างงานภาคค้าปลีกค้าส่งและการก่อสร้าง ส่วนเงินฝากและเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เดือนพฤษภาคมปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมีดังนี้ ปัจจัยบวกที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเหนือส่วนสำคัญมาจาก ภาคการท่องเที่ยว ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวขยายตัวดีทั้งจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน อัตราการเข้าพัก ราคาห้องพักเฉลี่ย และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคาร นอกจากนี้ ยอดขายสินค้าจำเป็นยังขยายตัวจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีน รวมทั้งคนไทยที่เดินทางมาประชุมสัมมนาและจัดกิจกรรมของหน่วยงานราชการและเอกชนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

การใช้จ่ายของภาครัฐในงบลงทุนขยายตัวต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.5 จากการปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ชลประทาน และการก่อสร้างอาคารของสถานศึกษาและโรงพยาบาล

ด้านมูลค่าการส่งออก ลดลงเล็กน้อยในเดือนนี้ร้อยละ 0.2 ตามการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับการผลิตที่หดตัว ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังฟื้นตัวไม่เต็มที่และสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งขัน อย่างไรก็ดี ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านด่านชายแดนยังขยายตัว แม้ชะลอลงบ้างจากที่เร่งส่งออกในเดือนก่อน ด้านมูลค่าการนำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำหรับส่งออก

ขณะที่อุปสงค์ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังซบเซาต่อเนื่อง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 1.0 ตามการหดตัวของสินค้าหมวดรถยนต์และจักรยานยนต์ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลงต่อเนื่อง และสถาบันการเงินยังระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ขณะที่หมวดสินค้าจำเป็นขยายตัว ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว และหมวดเชื้อเพลิงโดยเฉพาะน้ำมันยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ลดลงต่อเนื่องเป็นร้อยละ 8.6 ส่วนใหญ่จากภาคการก่อสร้างโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศยังซบเซา สะท้อนจากเครื่องชี้ที่ลดลงทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล การนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะการก่อสร้างภาคเอกชน ทั้งนี้ มูลค่าเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมจาก BOI ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ส่วนผลผลิตลดลงทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ลดลงมากที่ร้อยละ 16.8 จากทั้งการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งได้เร่งผลิตไปมากในช่วงก่อนหน้า และการสีข้าวลดลงตามวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เซรามิก และเฟอร์นิเจอร์ไม้ลดลง เนื่องจากสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับคู่แข่งขัน และบางส่วนไม่สามารถปรับปรุงสินค้าได้ทันกับความต้องการของตลาด อย่างไรก็ดี การแปรรูปผักสดและผลไม้แช่แข็งยังขยายตัวดี

รายได้เกษตรกร ลดลงร้อยละ17.0 จากทั้งปริมาณผลผลิตและราคา โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 16.7 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.4 เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรัง สับปะรดและลิ้นจี่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เป็นสาเหตุให้ราคาพืชสำคัญทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวเพิ่มขึ้น ส่วนการผลิตปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ แม้มีปริมาณเพิ่มขึ้นแต่ราคากลับลดลง

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาอาหารสดประเภท เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผักสด ปลาและสัตว์น้ำ ด้านอัตราการว่างงานปรับลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากการลดลงของการจ้างงานในภาคเกษตรสอดคล้องกับการผลิตในภาคเกษตรที่ลดลง ขณะที่การจ้างงานในภาคค้าปลีกค้าส่งและการก่อสร้างเพิ่มขึ้น

ภาคการเงิน เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2558 มียอดคงค้าง 612,726 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนยอดคงค้างลดลงจากการถอนเงินฝากที่ครบกำหนดไปลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ประกอบกับการถอนเงินฝากของส่วนราชการเพื่อนำไปใช้ในโครงการต่างๆ ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 602,913 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 ตามสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสหกรณ์ออมทรัพย์ ขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่ขอสินเชื่อเพื่อลงทุนใหม่ ส่วนหนึ่งรอความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากใกล้เคียงกับเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 98.4

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค โทร. 0 5393 1164

e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ