แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนธันวาคม 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 29, 2016 15:08 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 1/2559

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนธันวาคม 2558 ภาคเศรษฐกิจที่มีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการลงทุนของภาครัฐในระบบชลประทานและถนน ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนยังขยายตัวและหมวดยานยนต์มียอดขายเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องด้วยปัจจัยระยะสั้น ด้านการค้าชายแดนขยายตัวตามความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคของเมียนมา สำหรับภาคเศรษฐกิจที่หดตัวต่อเนื่อง ได้แก่ การลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคเกษตรเนื่องจากด้านราคาสินค้าเกษตรสำคัญทุกตัว ได้แก่ ข้าวและอ้อย รวมถึงภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และการแปรรูปเกษตร สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปของภาคเหนือ อัตราเงินเฟ้อติดลบน้อยลงตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่หดตัวน้อยลง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ด้านเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เดือนพฤศจิกายนขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เงินฝากชะลอลงไปบ้าง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมีดังนี้ ภาคเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว ยังขยายตัวดี ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาด้วยเที่ยวบินตรงและเช่าเหมาลำเพิ่มขึ้น และมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาเริ่มกลับเข้ามามากขึ้น รวมทั้งนักท่องเที่ยวไทยที่เข้ามาท่องเที่ยวช่วงสิ้นปีในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ สะท้อนจากดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวขยายตัวดีทั้งอัตราเข้าพักของโรงแรม จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน ราคาห้องพักเฉลี่ย การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคาร

การเบิกจ่ายของภาครัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 จากการก่อสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมโครงการของกรมชลประทาน กรมทางหลวงและอาคารของสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งโครงการลงทุนขนาดเล็ก โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนมีความคืบหน้าให้เห็นชัดเจนมากขึ้น

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนสำคัญมาจากการใช้จ่ายในสินค้าจำเป็นและการใช้จ่ายในหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงขยายตัวดี เพราะได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการใช้จ่ายส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับภาคบริการและการก่อสร้างภาครัฐ เช่น ค้าปลีกค้าส่งและวัสดุก่อสร้าง ด้านการใช้จ่ายสินค้าคงทนขยายตัวดีต่อเนื่องทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์เพื่อการพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ ส่วนหนึ่งจากปัจจัยชั่วคราวที่ผู้บริโภคบางส่วนตัดสินใจซื้อก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์บางรุ่นในต้นปีหน้า อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรที่ตกต่ำและหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงยังบั่นทอนการใช้จ่ายของครัวเรือนอยู่

ภาคเศรษฐกิจที่หดตัวยังมาจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ที่แม้หดตัวน้อยลงเหลือร้อยละ 0.1 แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการลงทุนใหม่ที่ชัดเจนโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงอุตสาหกรรมส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ได้ผลิตเต็มศักยภาพ ส่งผลให้ภาพรวมเครื่องชี้การลงทุนสำคัญลดลงทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล รวมถึงการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ อย่างไรก็ดี ส่วนที่เห็นเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ ปริมาณจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวและยอดขายวัสดุก่อสร้างที่ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างของภาครัฐ

รายได้เกษตรกร ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องร้อยละ 20.0 เป็นผลจากทั้งด้านปริมาณผลผลิตและราคา โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 12.3 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนมีน้อยกว่าปกติและการกระจายของฝนไม่สม่ำเสมอ ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง อีกทั้งพื้นที่เพาะปลูกลดลง เพราะเกษตรกรบางส่วนหันไปปลูกพืชอื่นทดแทน สะท้อนให้เห็นจากผลผลิตพืชสำคัญลดลงทั้งข้าวนาปี อ้อยและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 8.8 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่วนสำคัญมาจากราคาข้าวนาปีและอ้อยที่ลดลงตามราคาตลาดโลก ประกอบกับราคาปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ลดลงต่อเนื่อง เพราะมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากเกินความต้องการของตลาด

ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 11.1 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลงทุกประเภทสินค้า ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เลนส์กล้องถ่ายภาพและส่วนประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและส่วนหนึ่งเกิดจากการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งขัน นอกจากนี้ การผลิตแปรรูปเกษตร เช่น การสีข้าว น้ำตาลทราย แปรรูปผักและผลไม้ลดลง เนื่องจากวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้งและปริมาณน้ำน้อยกว่าปกติ อย่างไรก็ดี การผลิตบางสาขายังเพิ่มขึ้น ได้แก่ การผลิตเซรามิก เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพื่อรองรับเทศกาลช่วงสิ้นปี และวัสดุก่อสร้างที่กลับมาเพิ่มขึ้นตามการก่อสร้างของภาครัฐเป็นสำคัญ

ด้านการส่งออก กลับมาลดลงร้อยละ 2.9 โดยเฉพาะการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงสอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี การส่งออกผ่านด่านชายแดนยังขยายตัวได้ ตามความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคของเมียนมาเป็นสำคัญ ด้านมูลค่าการนำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 จากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทพืชผักและผลไม้ และสินค้าหมวดอื่น ๆ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยรวมไม่แตกต่างจากเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบน้อยลงเหลือร้อยละ 1.4 จากผลของฐานราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ทยอยหมดลง ขณะที่ราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มทรงตัวเท่ากับเดือนก่อน ด้านอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำและทรงตัวเท่ากับเดือนก่อนที่ร้อยละ 0.8 โดยแรงงานภาคเกษตรบางส่วนได้กลับมาสู่ภาคบริการและการค้าภายหลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2558 สาขาธนาคารพาณิชย์มียอดเงินให้สินเชื่อ 625,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs โดยมีความต้องการสินเชื่อกระจายตัวในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ค้าพืชไร่ ค้าวัสดุและรับเหมาก่อสร้างงานภาครัฐ รวมถึงสินเชื่ออุปโภคบริโภคโดยเฉพาะเพื่อที่อยู่อาศัย ด้านเงินฝาก มียอดคงค้าง 621,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ชะลอลงบ้างจากเดือนก่อน ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากใกล้เคียงกับเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 100.6

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค โทร. 0 5393 1164

e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ