แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนสิงหาคม 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 30, 2015 16:18 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 15/2558

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนสิงหาคม 2558 ยังคงทรงตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ทรงตัว โดยรายได้เกษตรกรหดตัวน้อยลงจากผลของด้านราคาที่ดีขึ้น ส่งผลให้ยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคหมวดอาหารและเครื่องดื่มและยอดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ปรับดีขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงปรับลดลงและอยู่ในระดับต่ำ กอปรกับการใช้จ่ายงบลงทุนของภาครัฐและการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังคงทรงตัว สำหรับอัตราเงินเฟอทั่วไปติดลบมากขึ้นจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง ด้านอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ยอดเงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนกรกฎาคม 2558 ขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างทรงตัวจากเดือนก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.9 ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยรายได้เกษตรกรหดตัวน้อยลงจากผลของด้านราคาที่ดีขึ้น ส่งผลให้ยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคหมวดอาหารและเครื่องดื่มและยอดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าปรับดีขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงปรับลดลงและอยู่ในระดับต่ำที่ 36.0 ลดลงจากระดับ 36.9 ในเดือนก่อน เนื่องจากประชาชนยังคงกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ภาคบริการ ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากรายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขณะที่อัตราการเข้าพักโรงแรมชะลอลงจากเดือนก่อน

การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ หดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.5 แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนจากผลด้านราคาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคามันสำปะหลังปรับสูงขึ้นถึงร้อยละ 25.3 เนื่องจากจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักมีความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง กอปรกับเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขยายตัวร้อยละ 22.3 ตามความต้องการใช้ภายในประเทศเป็นสำคัญ ด้านราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวหดตัวน้อยลงเป็นลำดับ เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่วนราคายางพารายังคงหดตัว เนื่องจากจีนมีการชะลอคำสั่งซื้อตามความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ลดลง ขณะที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิหดตัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันที่มากขึ้นในตลาดโลก โดยมีคู่แข่งสำคัญ อาทิ เวียดนามและกัมพูชา สำหรับผลผลิตพืชหดตัวตามผลผลิตข้าวนาปรังเป็นสำคัญ

การใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.6 แต่ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการชะลอตัวในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท และจากเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของสำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นสำคัญ

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.8 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการผลิตเพื่อการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ที่ลดลงจากความต้องการจากตลาดต่างประเทศที่ลดลงเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาล ยังขยายตัวดี โดยโรงงานยังคงมีการละลายน้ำตาลทรายดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายขาวเพิ่มขึ้น รวมทั้ง การผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามคำสั่งซื้อของผู้ค้าส่งที่มีมากขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้อยู่ที่ระดับ 78.4 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 79.0 ในเดือนก่อน

การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.2 ทรงตัวจากเดือนก่อนตามภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลปรับตัวดีขึ้นจากการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และบริการ ขณะที่การก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยยังคงหดตัว ประกอบกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ชะลอลง ด้านเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการขยายตัวกว่า 1.4 เท่า จากเม็ดเงินลงทุนของทั้งโรงงานขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ขณะที่เงินลงทุนของกิจการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดอุตสาหกรรม ยกเว้นหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งที่ยังขยายตัวจากกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟาและชิ้นส่วนยานยนต์ในจังหวัดนครราชสีมา

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟอทั่วไปติดลบร้อยละ 1.62 และติดลบมากขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่มีราคาลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟอพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.78 ทรงตัวใกล้เคียงจากเดือนก่อน สำหรับอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2558 ยอดเงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนมิถุนายน ตามเงินฝากออมทรัพย์ของส่วนราชการเป็นสำคัญ ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างทรงตัวจากเดือนก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 04333 3000 ต่อ 3415 E-mail: PornnipT@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ