แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนกุมภาพันธ์ 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 31, 2015 14:04 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 5/2558

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ชะลอลงกว่าที่คาด ตามการหดตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว รายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังเปราะบาง ผู้ประกอบการที่จะลงทุนใหม่จึงรอความชัดเจนของการฟื้นตัวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การส่งออกชะลอลงตามอุปสงค์จากต่างประเทศ รวมถึงผลผลิตทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรลดลง จากผลกระทบภาวะภัยแล้ง อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีและภาครัฐมีการเบิกจ่ายงบลงทุนอยู่ในเกณฑ์ดี สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจในภาคเหนือโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี พิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานปรับลดลง ด้านเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เดือนมกราคมขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนเงินให้สินเชื่อขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมี ดังนี้ การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนยังอ่อนแอและฟื้นตัวช้า ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนกลับมาลดลงเล็กน้อยในเดือนนี้ร้อยละ 0.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการบริโภคสินค้าในหมวดยานยนต์ยังลดลง จากความระมัดระวังในการใช้จ่ายและภาระหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับรายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนนี้ปรับลดลง รวมถึงสถาบันการเงินยังเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีนในหมวดสินค้าจำเป็นยังคงขยายตัว ขณะที่ราคาน้ำมันที่ลดลงยังไม่ส่งผลต่อการบริโภคชัดเจน

ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.0 ด้วยเหตุผลเดิมคือภาคธุรกิจยังชะลอดูภาคเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้นและผลของมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ สังเกตจากปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ยังลดลง อย่างไรก็ดี ปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายในหมวดซ่อมสร้างของภาครัฐ

ด้านการส่งออก มีมูลค่าใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน ขยายตัวเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.2 และชะลอลงจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกผ่านด่านชายแดนลดลง เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาเข้มงวดในการนำเข้าสินค้า ประกอบกับมูลค่าส่งออกน้ำมันลดลงจากการปรับลดราคา รวมทั้งการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลดลงตามอุปสงค์จากต่างประเทศ ด้านการนำเข้า ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.0 ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ

ในภาคการผลิต ผลผลิตลดลงทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.7 ตามการผลิตอาหารแปรรูปสินค้าเกษตร เนื่องจากวัตถุดิบทั้งอ้อยและข้าวได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ประกอบกับการผลิตสิ่งทอและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังลดลง อย่างไรก็ดี ผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในเดือนนี้ ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จากการเร่งผลิตก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีใหม่ ผลผลิตสินค้าประเภทเครื่องใช้เซรามิกบนโต๊ะอาหารและผลิตภัณฑ์จากไม้ยังเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ดี จากอุปสงค์ของตลาดบนในกลุ่มประเทศยุโรปแม้ค่าเงินยูโรอ่อนลง

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.5 ตามผลผลิตข้าวนาปรัง อ้อยและหอมแดง ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง อย่างไรก็ดี ผลผลิตมันสำปะหลังและหอมหัวใหญ่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรพัฒนาคุณภาพการเพาะปลูก ทำให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.5 ตามราคาสับปะรดโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และหอมหัวใหญ่ แต่ราคาปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่พันธุ์เนื้อและไข่ไก่ลดลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกร ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.1 ภาคการท่องเที่ยว ยังขยายตัวในระดับสูงจากระยะเดียวกันปีก่อน จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีน ทั้งเที่ยวบินตรงและเช่าเหมาลำ รวมถึงคาราวานรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐ ราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่องและมาตรการลดหย่อนภาษีส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ จูงใจให้ชาวไทยเดินทางเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือจำนวนมาก สะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานและอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน

ด้านการใช้จ่ายงบลงทุน ของภาครัฐขยายตัวดีที่ร้อยละ 46.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการปรับปรุงและซ่อมสร้างโครงการต่อเนื่องของกรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวงและกรมชลประทาน อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายโดยรวมยังต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของรายจ่ายประจำในปีก่อนที่มีการโอนเงินอุดหนุนให้กับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมูลค่าสูง รวมทั้งมีการจ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการโดยไม่ผ่านระบบงานของคลังจังหวัด

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีและไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนเป็นร้อยละ 0.8 ตามราคาขายปลีกน้ำมัน ประกอบกับการปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และราคาอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์และไก่ ซึ่งมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ด้านอัตราการว่างงานปรับลดลงจากเดือนก่อนเหลือร้อยละ 0.8

ภาคการเงิน เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2558 มียอดคงค้าง 612,795 ล้านบาท ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.2 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามเงินฝากของส่วนราชการและยังเป็นผลจากการระดมเงินฝากโดยออกผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ให้ผลตอบแทนจูงใจในช่วงปลายไตรมาสก่อน ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 595,114 ล้านบาท (ประมาณการ) ขยายตัวร้อยละ 4.7 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยยังมีความต้องการสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง อุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 0 5393 1164 e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ