สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนธันวาคม ปี 2558

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 29, 2016 14:46 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 1/2559

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนธันวาคม 2558 โดยรวมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลบวกจากปัจจัยชั่วคราว โดยการบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางปรับดีขึ้นจากการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตในเดือนมกราคมปี 2559 ประกอบกับยังมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังขยายตัว และภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มหลัก กำลังซื้อบางส่วนยังคงอ่อนแอตามรายได้เกษตรกรที่ตกต่ำ ขณะที่การส่งออกหดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก รวมถึงผลของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำกดดันให้ราคาสินค้าเกษตรส่งออกลดลง จึงทำให้การผลิตเพื่อส่งออกสินค้าสำคัญและการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อยังคงติดลบตามราคาพลังงาน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้

เครื่องชี้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางปรับดีขึ้นเกือบทุกรายสินค้า การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนได้รับผลบวกจากปัจจัยชั่วคราวที่มีการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตในปีหน้า ทำให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากที่หดตัวนานกว่า 2 ปี ขณะเดียวกันการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าไม่คงทนในหมวดบริการได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ส่วนการใช้จ่ายในหมวดวัสดุก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการก่อสร้างโครงการภาครัฐ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตามเครื่องชี้ในหมวดก่อสร้างยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนเนื่องจากผู้ประกอบการยังชะลอการลงทุนเพื่อรอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ

การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในเดือนนี้ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 114.6 จากเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการขนาดเล็กด้านคมนาคมและชลประทานตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับมีการเร่งเบิกจ่ายในการก่อสร้างอาคารของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานในหลายพื้นที่ ขณะเดียวกันรายได้ภาครัฐขยายตัวตามการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีรายได้บุคคลธรรมดา

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงขยายตัว จากกลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชียและสหภาพยุโรป โดยเฉพาะจีน เกาหลี และเยอรมัน สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินผ่านท่าอากาศยานในภาคใต้ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งมีการเปิดเส้นทางบินและเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งจากสหภาพยุโรปและเอเชียเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศของทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจของมาเลเซียค่อนข้างซบเซาตามรายได้จากการส่งออก จึงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียชะลอตัว

รายได้เกษตรกรยังคงอ่อนแอจากผลทั้งด้านราคาและผลผลิต โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังเผชิญปัจจัยลบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ราคายางและปาล์มน้ำมันหดตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ราคายางพารายังถูกกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลต่อเศรษฐกิจคู่ค้าหลักจีนชะลอตัว และสต็อกยางในตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่ราคากุ้งขาวปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปริมาณผลผลิตกุ้งที่ลดลง ด้านผลผลิตเกษตรยังคงลดลง โดยผลผลิตยางลดลงจากราคายางที่ตกต่ำจึงไม่จูงใจให้กรีด ส่วนผลผลิตกุ้งขาวลดลงจากการชะลอการจับกุ้งของเกษตรกรเพื่อลดปริมาณกุ้งเข้าโรงงานโดยหวังผลให้ได้ราคาที่สูงขึ้น ประกอบกับมีความมั่นใจในการเลี้ยงมากขึ้นจึงทอดระยะเวลาให้กุ้งมีขนาดใหญ่มากขึ้น ขณะที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันยังคงเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน

มูลค่าการส่งออกหดตัวต่อเนื่องจากเดือนเดียวกันปีก่อน เนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศยังไม่มีทิศทางปรับดีขึ้นตามเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัว ประกอบกับแรงกดดันของราคาน้ำมันโลกที่ตกต่ำทำให้ราคาส่งออกสินค้าเกี่ยวข้องหดตัวและส่วนหนึ่งมีผลทำให้ราคาวัตถุดิบลดลง อาทิ ยางพาราแปรรูป ถุงมือยาง และอาหารทะเลกระป๋อง ซึ่งการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกลดลงในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตามการผลิตและการส่งออกอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังติดลบที่ร้อยละ 1.36 จากเดือนเดียวกันปีก่อน จากราคาพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบโลกเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยราคาอาหารสำเร็จรูปลดลงตามต้นทุนเชื้อเพลิงหุงต้มที่ยังตรึงราคาไว้เป็นเดือนที่ 4 เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ขณะที่อัตราว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.22 ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2558 ยอดเงินฝากของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในภาคใต้เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน จากการโอนเงินเข้าบัญชีของส่วนราชการตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายในโครงการภาครัฐ และการเร่งระดมเงินฝาก ด้านเงินให้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการภาครัฐในการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs นอกจากนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจให้สินเชื่อแก่กลุ่มเกษตรกรเพิ่มขึ้น รวมถึงสินเชื่อสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยผ่านกองทุนหมู่บ้านตามนโยบายภาครัฐ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 074272000 ต่อ 4717 E-mail :Jularatk@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ