แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 31, 2016 17:17 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 18/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559

เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยภาคการท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่อง และการใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายตัวดีแม้รายจ่ายลงทุนแผ่วลงบ้างเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่ายสูง ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมทรงตัว โดยการใช้จ่ายเพื่อสินค้าคงทนกลับมาอยู่ในระดับต่ำหลังหมดช่วงเร่งซื้อก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ แต่การจับจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการอื่นยังขยายตัวได้สอดคล้องกับรายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่เติบโตบ้าง ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าที่หักหมวดทองคำหดตัวจากภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าหลักทั้งจีนและอาเซียนที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับราคาสินค้าส่งออกยังหดตัวตามราคาน้ำมัน ส่งผลให้การผลิตและการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังติดลบจากผลของราคาน้ำมัน แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับสูงขึ้นเล็กน้อยจากการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตยาสูบ สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมลดลงบ้าง แต่แรงงานสามารถย้ายไปทำงานในภาคบริการที่ขยายตัวดี ในเดือนนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากจากการส่งออกทองคำที่มีมูลค่าสูง ขณะที่มูลค่าการนำเข้ายังคงหดตัว

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้ ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวสูงและมีสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยในเดือนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง และนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ ที่มีทิศทางฟื้นตัวชัดเจนขึ้น

การใช้จ่ายของภาครัฐยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการและการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ รวมถึงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ทำได้ดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางแผ่วลงบ้างหลังการเร่งเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า สำหรับการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นตามการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและรายได้ภาษีที่ขยายตัวตามการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางทรงตัวจากเดือนก่อนหลังผลบวกของปัจจัยชั่วคราวหมดลง โดยยังมีแรงส่งจากการใช้จ่ายในหมวดบริการและหมวดสินค้าไม่คงทน ตามรายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่ขยายตัวบ้าง อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนหดตัวหลังหมดช่วงเร่งซื้อก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคยังถูกฉุดรั้งจากรายได้เกษตรที่หดตัวเพราะผลของภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ รวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่สถาบันการเงินยังคงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกหนี้รายย่อย

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 6.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 โดยเป็นผลจากการส่งออกทองคำในภาวะที่ราคาทองคำโลกซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจูงใจให้คนไทยที่เคยเก็บออมในรูปทองคำขายทองคำดังกล่าวออกมาเพื่อทำกำไร แต่หากไม่นับรวมทองคำ มูลค่าการส่งออกสินค้าจะหดตัวร้อยละ 4.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญชะลอตัว ความสามารถในการแข่งขันของไทยยังเป็นข้อจำกัดในบางกลุ่มสินค้า และราคาสินค้าส่งออกหลายชนิดยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก นอกจากนี้มีผลของปัจจัยชั่วคราว ได้แก่ การปิดซ่อมโรงกลั่นซึ่งทำให้การส่งออกสินค้าหมวดปิโตรเลียมต่ำเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางชนิดขยายตัวได้ อาทิ น้ำตาลขยายตัวสูงตามการคาดการณ์ของตลาดว่าอุปทานน้ำตาลโลกจะลดลงจากปัญหาภัยแล้ง และอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวเพื่อเตรียมจำหน่ายในงานนิทรรศการสินค้าที่ฮ่องกง

มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ 16.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้า ทั้งนี้ การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางหดตัวสูงสอดคล้องกับภาวะการส่งออกที่ยังไม่ดี และราคาน้ำมันดิบและโลหะในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ส่วนการนำเข้าสินค้าทุนยังคงหดตัวตามภาวะการลงทุนภาค เอกชนที่ค่อนข้างซบเซา โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.7 สะท้อนว่าธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ยกเว้นธุรกิจสื่อสารเพื่อรองรับระบบ 4G และธุรกิจพลังงานทดแทน ทั้งนี้ การระดมทุนโดยรวมของภาคธุรกิจชะลอลงจากเดือนก่อนทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจและการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้

การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนที่แล้วแต่โดยรวมยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำตามอุปสงค์ที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะอุปสงค์จากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การผลิตสินค้าบางชนิดเพิ่มขึ้นจากปัจจัยพิเศษ อาทิ ยางพาราแปรรูปที่เร่งตัวก่อนมติความร่วมมือไตรภาคียางพาราระหว่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในการควบคุมอุปทานยางในตลาดโลกจะมีผลในเดือนมีนาคม และสับปะรดกระป๋องที่มีปริมาณวัตถุดิบเพิ่มขึ้น

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบร้อยละ -0.5 จากราคาในหมวดพลังงานที่ยังอยู่ต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับสูงขึ้นบ้างแม้แรงกดดันจากด้านอุปสงค์ยังมีน้อย ทั้งนี้เพราะการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตยาสูบที่เริ่มมีผลในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามการจ้างงานที่ลดลงในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม แรงงานจำนวนหนึ่งสามารถย้ายไปทำงานในภาคก่อสร้างและภาคบริการที่ขยายตัวดี ผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรจึงมีไม่มาก

ด้านต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงที่ 7.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เพราะทองคำ ประกอบกับรายได้จากการท่องเที่ยวที่ดี ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้ายังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ 0.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย และการให้สินเชื่อทางการค้าของผู้ส่งออกไทยเป็นสำคัญ

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ