แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนมกราคม 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 29, 2016 17:45 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 3/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคม 2559

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนมกราคม 2559 ในภาพรวมเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญยังแสดงทิศทางคล้ายกับช่วงปลายปี 2558 โดยภาคเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดียังเป็นภาคการท่องเที่ยวและกิจกรรมด้านการค้าชายแดน แม้การใช้จ่ายภาคเอกชนและการเบิกจ่ายภาครัฐในด้านการลงทุนจะแผ่วลงไปในเดือนนี้ก็ตาม ทั้งนี้ ภาคเกษตรโดยเฉพาะรายได้เกษตรกร การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังโน้มตัวลดลงต่อเนื่อง สำหรับภาพรวมเสถียรภาพเศรษฐกิจของภาคเหนือที่พิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ การจ้างงาน และภาคสถาบันการเงินทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อติดลบน้อยลง ส่วนสำคัญยังมาจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่หดตัวน้อยลง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ด้านเงินฝากและเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เดือนธันวาคมขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยสินเชื่อบริโภคส่วนบุคคลชะลอลง สอดคล้องกับภาคเศรษฐกิจจริง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมีดังนี้ ปัจจัยหลักที่ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเหนือต่อเนื่อง ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง ตามฤดูกาลท่องเที่ยว โดยดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวขยายตัวดีทั้งอัตราเข้าพักของโรงแรม จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน ราคาห้องพักเฉลี่ย การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคาร ส่วนสำคัญจากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจีนที่เข้ามาด้วยเที่ยวบินตรงและเช่าเหมาลำเพิ่มขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวจากยุโรป สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียทยอยกลับเข้ามามากขึ้น และนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวตามฤดูกาลต่อเนื่องในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ในเดือนนี้ยอดขายสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ยังขยายตัวได้ แม้ชะลอลงบ้างภายหลังที่ช่วงเดือนก่อนหน้าผู้บริโภคบางส่วนได้ตัดสินใจเร่งซื้อก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ขนาดเกิน 1,500 ซีซี ซึ่งมีผลในต้นเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี สินค้าจำเป็นในการอุปโภคบริโภค การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและวัสดุก่อสร้างยังขยายตัวได้แม้อัตราไม่สูงนัก สัมพันธ์กับภาวะการท่องเที่ยวและรายได้นอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับลดลงและรายได้เกษตรกรอยู่ในระดับต่ำยาวนาน ทำให้การใช้จ่ายของครัวเรือนชะลอตัวโดยเฉพาะในภาคเหนือตอนล่าง

ด้านการเบิกจ่ายลงทุนของภาครัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 โดยเม็ดเงินเบิกจ่ายชะลอลงบ้างหลังจากโครงการลงทุนขนาดเล็กมีความคืบหน้าไปมากแล้ว ในเดือนนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นการก่อสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมระบบขนส่งทางถนน อาคารของสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาล รวมถึงการโอนเงินอุดหนุนสำหรับก่อสร้างให้กับท้องถิ่น

ปัจจัยที่ยังฉุดรั้งเศรษฐกิจภาคเหนือ ได้แก่ รายได้เกษตรกร ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้หดตัวน้อยลงเหลือร้อยละ 9.0 เป็นผลจากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 7.9 ส่วนสำคัญมาจากราคาข้าวนาปีและอ้อยลดลง เนื่องจากยังได้รับแรงกดดันจากสต๊อกที่เหลืออยู่และราคาในตลาดโลกที่ลดลง ประกอบกับราคามันสำปะหลังและปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ลดลง เพราะมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากเกินความต้องการของตลาด ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ปรับดีขึ้นเหลือลดลง 1.2 ส่วนสำคัญจากผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นจากที่เกษตรหันมาเพาะปลูกทดแทนข้าว รวมถึงผลผลิตปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ยังขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตพืชสำคัญยังลดลงทั้งข้าวนาปีและอ้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนมีน้อยกว่าปกติ ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ทำให้พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตต่อไร่ลดลง

ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ยังคงลดลงร้อยละ 4.3 องค์ประกอบสำคัญมาจากภาวะซบเซาในภาคการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ โดยมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐมีเพียงช่วยระบายสต๊อกและลดภาระของผู้ซื้อ แต่ยังไม่กระตุ้นให้มีการลงทุนใหม่ ๆ เนื่องจากยังมีอุปทานส่วนเกินอยู่ รวมถึงอุตสาหกรรมบางประเภทได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้ยังไม่เห็นการเพิ่มการลงทุนใหม่และขยายการผลิตเพิ่มเติม ส่งผลให้ภาพรวมเครื่องชี้การลงทุนลดลงทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและปริมาณจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ เช่นเดียวกับยอดขายวัสดุก่อสร้างที่ปรับลดลงจากเดือนก่อน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 8.1 จากการผลิตเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงทุกประเภทสินค้าโดยเฉพาะแผงวงจรรวมและเครื่องตัดต่อวงจรไฟฟ้า รวมถึงเลนส์กล้องถ่ายภาพและส่วนประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักชะลอลง นอกจากนี้ สินค้าเกษตรแปรรูปทั้งการผลิตน้ำตาล การสีข้าว การแปรรูปผักและผลไม้แช่แข็งยังลดลง อย่างไรก็ดี การผลิตที่ขยายตัวในเดือนนี้ ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เซรามิก เฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้

ในส่วนของการส่งออก หดตัวร้อยละ 5.0 ส่วนสำคัญมาจากภาวะแข่งขันมากขึ้นในหมวดสินค้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่งไปญี่ปุ่น จีน มาเลเซียและสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปเมียนมาและ สปป.ลาวยังขยายตัวได้ดี และในเดือนนี้การส่งออกสินค้าไปจีนตอนใต้กลับมาเพิ่มขึ้น เนื่องจากทางการจีนผ่อนคลายการเข้มงวดการนำเข้าสินค้าจากไทยลง ด้านมูลค่าการนำเข้า กลับมาลดลงที่ร้อยละ 2.0 จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำหรับส่งออก

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบน้อยต่อเนื่องเหลือร้อยละ 1.0 จากผลของฐานราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ทยอยหมดลง รวมถึงราคาเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ปรับลดลงเล็กน้อย ด้านอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคบริการ ก่อสร้างและการค้า ส่วนหนึ่งเป็นแรงงานที่ย้ายมาจากภาคเกษตร

ภาคการเงิน ณ สิ้นธันวาคม 2558 สาขาธนาคารพาณิชย์มียอดคงค้างเงินฝาก 622,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 จากเงินฝากออมทรัพย์ของส่วนราชการเป็นสำคัญ ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 630,946 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของภาครัฐทยอยเห็นผล สะท้อนให้เห็นจากสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นกระจายตัวในหลายธุรกิจ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง โรงแรม การก่อสร้างและธุรกิจการเงิน นอกจากนี้ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยยังขยายตัวได้ ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 101.4 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 0 5393 1164 e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ