แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนเมษายน 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 31, 2016 16:23 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 7/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนเมษายน 2559

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนเมษายน 2559 ภาพรวมแผ่วลงจากเดือนก่อน โดยชะลอลงเล็กน้อยในเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ ยกเว้นการค้าชายแดนไปยังประเทศเมียนมาและ สปป.ลาว ที่ขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ ปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจยังมาจากการลงทุนภาคเอกชน การผลิตภาคอุตสาหกรรมและรายได้เกษตรกร อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าเกษตรน่าจะปรับตัวดีขึ้นบ้าง เนื่องจากผลผลิตลดลงจากผลกระทบภัยแล้ง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำ โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคก่อสร้าง บริการและค้าปลีกค้าส่ง ส่วนหนึ่งย้ายมาจากภาคเกษตร อัตราเงินเฟ้อติดลบน้อยลงต่อเนื่องจากราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้น ด้านเงินให้สินเชื่อและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ชะลอลงตามภาคเศรษฐกิจจริง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือมีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 3.2 โดยในเดือนนี้การใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าคงทนกลับมาหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรยังตกต่ำ รวมถึงรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรทั้งภาคการผลิต ภาคก่อสร้างและภาคการค้าปรับลดลงตามจำนวนชั่วโมงการทำงาน ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังลดลงต่อเนื่อง ทำให้ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำและสภาพอากาศร้อนจัด มีส่วนให้ค่าใช้จ่ายในหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ภาคการท่องเที่ยว โดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ชะลอลงจากเดือนก่อนบ้าง พิจารณาจากเครื่องชี้สำคัญทั้งจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน อัตราเข้าพักของโรงแรม และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนยังนิยมเดินทางเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมากอยู่

บทบาทของภาครัฐแผ่วลง จากที่เม็ดเงินเบิกจ่ายชะลอลงเหลือร้อยละ 8.3 เนื่องจากจากที่ได้เร่งเบิกจ่ายไปมากในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี คาดว่าการเบิกจ่ายในระยะต่อไปจะมาจากโครงการตามแผนงานงบประมาณปกติทั้งจากการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนของกรมทางหลวง อาคารของสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาล ซึ่งจะมีความสำคัญมากขึ้น ทดแทนมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนน มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลและโครงการลงทุนขนาดเล็กที่ได้เบิกจ่ายไปมากแล้ว

อย่างไรก็ดี การส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 ต่อเนื่อง ส่วนสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านด่านชายแดนไปเมียนมาและ สปป.ลาว ขณะที่การส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปจีนและฮ่องกงยังลดลง อันเป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอลงและสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งขัน สอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรม ด้านมูลค่าการนำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 จากการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากลาวเป็นสำคัญ

ปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจภาคเหนือ ได้แก่ รายได้เกษตรกร ยังหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 28.7 เป็นผลจากทั้งด้านผลผลิตและราคา โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 26.5 ในผลผลิตพืชหลักสำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้งที่รุนแรงกว่าที่คาดไว้ ทำให้พื้นที่เพาะปลูก คุณภาพและผลผลิตต่อไร่ลดลง อย่างไรก็ดี ผลผลิตปศุสัตว์ทั้งสุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ยังขยายตัวได้ สำหรับดัชนีราคาสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 2.9 โดยยังลดลงในพืชหลัก ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากคุณภาพของผลผลิตและความต้องการลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้าง จากผลผลิตที่ลดลงเพราะผลของภัยแล้ง ส่วนราคาปศุสัตว์ทั้งสุกรและไข่ไก่ยังเพิ่มขึ้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 14.6 ที่สำคัญเป็นการลดลงของอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกทั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งลดลงเกือบทุกสินค้าทั้งแผงวงจรรวม ทรานฟอร์เมอร์ ตัวเก็บบรรจุไฟฟ้า เลนส์กล้องถ่ายภาพและส่วนประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ รวมถึงการผลิตสิ่งทอ ตามภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าหลักชะลอลง นอกจากนี้ การผลิตน้ำตาล การสีข้าว การแปรรูปผักและผลไม้ลดลงจากผลผลิตได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้ง อย่างไรก็ดี การผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเพิ่มขึ้น

สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว โดยลดลงต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.6 จากภาวะซบเซาในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสอดคล้องกับสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง อย่างไรก็ดี ผลของมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ช่วงเดือนสุดท้ายมีส่วนช่วยระบายสต๊อกและกระตุ้นให้มีการโอนอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นในเดือนนี้ ด้านการลงทุนภาคการผลิตยังมีไม่มากนัก เนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศยังอ่อนแอ สะท้อนจากเครื่องชี้การลงทุนสำคัญลดลงทุกประเภททั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ยอดขายวัสดุก่อสร้าง ปริมาณจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์และยอดนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบน้อยลงเป็นร้อยละ 0.09 จากราคาอาหารสดปรับเพิ่มขึ้น ตามผลผลิตน้อยลงจากภาวะแห้งแล้ง ขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลง แม้มีโอกาสเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ด้านอัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำและทรงตัวร้อยละ 1.0 การจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคก่อสร้าง ค้าปลีกค้าส่งและบริการ โดยแรงงานภาคเกษตรย้ายเข้ามาบางส่วน ทั้งนี้ การใช้มาตรา 75 ในภาคการผลิตผ่อนคลายลงกว่าช่วงก่อนหน้า

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 สาขาธนาคารพาณิชย์มียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อ 585,704 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ชะลอลงจากเดือนก่อน จากการชำระหนี้คืนบางส่วนของภาคธุรกิจ แต่โดยรวมสินเชื่อภาคธุรกิจยังเพิ่มขึ้นและกระจายตัวในธุรกิจภาคค้าปลีกค้าส่ง อุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้าง โรงแรม ขนส่ง ธุรกิจการเงินและภาคเกษตร ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยยังขยายตัวได้ ส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ด้านเงินฝากมียอดคงค้าง 638,579 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 จากเงินฝากออมทรัพย์ของภาคธุรกิจและส่วนราชการเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 91.7 เท่ากับเดือนก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 0 5393 1164 e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ