แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤษภาคม ปี 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 30, 2016 16:31 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 38/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤษภาคม ปี 2559

เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2559 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่กระเตื้องขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนเป็นหลัก ส่วนหนึ่งเพราะกำลังซื้อของครัวเรือนเกษตรเริ่มปรับดีขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นและปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย ประกอบกับการใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐกลับมาขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าที่ยังคงหดตัวส่งผลให้การผลิตและการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดและราคาน้ำมัน อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่ดีและมูลค่าการนำเข้าที่อยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่องและเป็นแรงส่งที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยจำนวนนักท่องเที่ยวรวมขยายตัวร้อยละ 7.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน และเห็นการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวเกือบทุกสัญชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวรัสเซียที่โน้มสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4

การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคและหมวดบริการยังมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนกลับมาขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ประกอบกับกำลังซื้อของครัวเรือนค่อยๆ ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น และปริมาณผลผลิตที่เริ่มทรงตัวหลังภาวะภัยแล้งคลี่คลาย ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นของครัวเรือนเกษตรปรับเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับการใช้จ่ายของครัวเรือนนอกภาคเกษตรช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนผ่านการขยายตัวของการจ้างงานทั้งในภาคการผลิตและ ภาคบริการ

แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐดีขึ้นในเดือนนี้ โดยรายจ่ายลงทุนกลับมาขยายตัวดีหลังแผ่วไปบ้างในช่วงก่อน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการด้านคมนาคมและชลประทาน ขณะที่รายจ่ายประจำขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและรายจ่ายเพื่อการซื้อสินค้าและบริการ

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 3.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่นับรวมการส่งออกทองคำที่เร่งขึ้นในเดือนนี้ มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ 5.6 ซึ่งเป็นการหดตัวในอัตราที่น้อยลงจากเดือนก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากระดับการส่งออกยานยนต์ในปีที่แล้วที่ต่ำ ประกอบกับสินค้าบางหมวดขยายตัวได้ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศที่การส่งออกไปยังตลาดอาเซียนขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะเวียดนามที่ภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตดี และการส่งออกไปสหภาพยุโรปได้รับประโยชน์จากสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ยังหดตัวเพราะเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวช้า

การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน ด้วยผลของฐานที่ต่ำ ในปีที่แล้ว และอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ปรับดีขึ้นในบางหมวดสินค้า อาทิ ยานยนต์ที่ขยายตัวสูงเนื่องจากในปีก่อนมีการหยุดการผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนสายการผลิต ประกอบกับในปีนี้ความต้องการรถกระบะดัดแปลงขยายตัวดีต่อเนื่อง และเครื่องปรับอากาศที่ขยายตัวดีเพราะสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม การผลิตในหลายอุตสาหกรรมยังคงหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน เพราะอุปสงค์จากต่างประเทศยังต่ำ ส่วนหนึ่งจากข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง เช่น ความสามารถในการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองต่อรสนิยมของผู้บริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมทองคำ มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ 1.9 ซึ่งเป็นการหดตัวในอัตราที่น้อยลงจากเดือนก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว ประกอบกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบเป็นสำคัญ นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าทุนปรับดีขึ้นบ้าง แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการนำเข้าอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมและพลังงานทดแทน สะท้อนภาวะการลงทุนภาคเอกชนที่การฟื้นตัวยังจำกัดอยู่เฉพาะในบางธุรกิจ ขณะที่การลงทุนในภาคธุรกิจอื่น ๆ ทรงตัวในระดับต่ำเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยังมีกำลังการผลิตเหลือ สอดคล้องกับการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ยังมีทิศทางชะลอลงเมื่อหักผลของการระดมทุนเพื่อควบรวมกิจการที่มีมูลค่าสูงเป็นพิเศษในเดือนนี้

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.46 โดยเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดและราคาน้ำมัน อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่ดีต่อเนื่องและมูลค่าการนำเข้าที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ 0.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จาก 1) การลงทุนโดยตรงในธุรกิจค้าปลีกของผู้ประกอบการไทยในประเทศเวียดนาม และ 2) การขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศ ตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงดังกล่าว

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ