สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ไตรมาส 2 ปี 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 2, 2016 15:38 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 13/2559

เรื่อง สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ไตรมาส 2 ปี 2559

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาส 2 ปี 2559 ทรงตัว ด้วยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัว รวมทั้งการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามรายได้เกษตรกร อย่างไรก็ตามผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ ทั้งยางและปาล์มน้ำมันลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัวช้า ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในระดับต่ำ และมูลค่าการส่งออกหดตัว ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสดที่เร่งตัว ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้

การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง โดยการเบิกจ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายประจำ จากการซื้อสินค้าและบริการของหน่วยงานด้านการศึกษา การเบิกจ่ายของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเพื่อใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งการเบิกจ่ายตามโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้าน ขณะเดียวกันการเบิกจ่ายงบลงทุนยังขยายตัวในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน เป็นสำคัญ ด้านโครงการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งงบตำบลละ 5 ล้านบาท งบโครงการขนาดเล็ก และโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน มีการเบิกจ่ายชะลอลง หลังจากมีการเบิกจ่ายแล้วกว่าร้อยละ 90

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางดีขึ้นตามรายได้เกษตรกร จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัว ดีขึ้นช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายภาคเอกชน ประกอบกับการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ให้ขยายตัวได้ นอกจากนี้การใช้จ่ายในหมวดไฟฟ้าและเชื้อเพลิงยังขยายตัวต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัว จากนักท่องเที่ยวจีนและนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามแรงส่งชะลอตัวจากไตรมาสก่อน เนื่องจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมากหลังประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก รวมทั้งเทศกาลถือศีลอดที่เริ่มเร็วขึ้นกว่าปีก่อน และส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจในประเทศมาเลเซียชะลอตัวทำให้นักท่องเที่ยวหลักมาเลเซียเดินทางเข้ามาลดลง

การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเล็กน้อย ตามการผลิตยางแปรรูปและไม้ยางพาราจากความต้องการของตลาดจีนที่ยังดีต่อเนื่อง และตลาดสหภาพยุโรปที่มีการสั่งซื้อถุงมือยางเพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตอาหารทะเลกระป๋องหดตัวจากผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อเพื่อรอดูราคาวัตถุดิบทูน่า ส่วนการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปหดตัวตามปริมาณวัตถุดิบปลาและหมึก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามการการผลิตกุ้งแช่เย็นแช่แข็งขยายตัวจากการฟื้นตัวของปริมาณวัตถุดิบรวมทั้งคู่แข่งประสบปัญหาเรื่องโรคระบาด สำหรับการผลิตน้ำมันปาล์มดิบหดตัวตามปริมาณผลปาล์มที่เข้าสู่โรงงาน

รายได้เกษตรกรปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องยาวนาน โดยราคายางและปาล์มน้ำมันได้รับปัจจัยบวกจากผลผลิตที่ลดลงมาก จากผลกระทบของภัยแล้ง ขณะเดียวกันราคากุ้งขาวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตของประเทศคู่แข่งลดลงจากปัญหาโรคระบาดและการตรวจพบสารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์กุ้ง ส่งผลให้ความต้องการกุ้งไทยเพิ่มขึ้น

การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ ตามภาวะอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน ประกอบกับความไม่มั่นใจของผู้ประกอบการต่อเศรษฐกิจ ส่งผลให้เครื่องชี้การลงทุนทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล การนำเข้าสินค้าทุน และปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัว อย่างไรก็ตามมีการลงทุนในธุรกิจภาคท่องเที่ยว และลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วย

มูลค่าการส่งออกหดตัว ตามมูลค่าการส่งออกยางพารา ถุงมือยาง สัตว์น้ำแช่แข็งลดลงจากปลาและหมึก อย่างไรก็ตามอาหารทะเลกระป๋อง และไม้ยางพาราแปรรูปขยายตัวตามความต้องการใช้ที่ยังดีต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าการนำเข้าหดตัวจากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรและอุปกรณ์ และน้ำยางสังเคราะห์ เป็นสำคัญ

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.17 ขยับขึ้นตามราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากผลกระทบของภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.61 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการจ้างงานใน ภาคก่อสร้างที่ลดลง

ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2559 เงินให้สินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 จากการระมัดระวังการให้สินเชื่อ โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง สำหรับสินเชื่อ SME ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอลงมากจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคหดตัวต่อเนื่องจากการชะลอลงของสินเชื่อที่อยู่อาศัย รวมทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถ ส่วนสินเชื่อบริโภคส่วนบุคคลขยายตัวหลังจากที่หดตัวในไตรมาสก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 074272000 ต่อ 4717

E-mail : RegionalEconSouth1@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ