แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤศจิกายน 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 30, 2016 10:55 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 18/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤศจิกายน 2559

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤศจิกายน 2559 ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอลง โดยการใช้จ่ายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันโดยรวมแม้จะหดตัว แต่สินค้าหมวดอาหารสดยังขยายตัว ส่วนสินค้าคงทนหมวดยานยนต์หดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อน ทั้งนี้ รายได้ภาคเกษตรยังหดตัวจากผลของราคา รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวใกล้เคียงเดือนก่อน ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐยังมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจ โดยขยายตัวทั้งงบประจำและงบลงทุน สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นตามราคาอาหารสดและน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ในส่วนของเงินฝากและสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวจากเดือนก่อน รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การบริโภคภาคเอกชนดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันโดยรวมแม้จะปรับลดลง โดยเฉพาะหมวดอาหาร เครื่องดื่ม อาทิ น้ำตาล กาแฟกึ่งสำเร็จรูป แต่สินค้าหมวดอาหารสดยังขยายตัวได้ ด้านการใช้จ่ายสินค้าคงทนหมวดยานยนต์ยังหดตัว ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์ เป็นผลมาจากฐานสูงในปีก่อนที่มีการเร่งซื้อก่อนปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต แต่รถจักรยานยนต์ยังขยายตัวเป็นผลให้โดยรวมทั้งปี (ม.ค.พ.ย.) เพิ่มขึ้นใกล้เคียง-กับปีก่อน ในส่วนของรายได้ภาคเกษตรยังหดตัวจากผลด้านราคา สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลงจากเดือนก่อน และยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งจากปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ประกอบกับปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนสะสมอยู่ในระดับสูงภาคบริการ รายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ลดลงจากเดือนก่อนตามรายได้ในหมวดการบริการที่พักแรมในโรงแรมรีสอร์ทและเกสต์เฮ้าส์ ขณะที่หมวดอาหารในร้านอาหารและภัตตาคารยังขยายตัว ด้านอัตราการพักแรมในเดือนนี้ปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อน ซึ่งนักท่องเที่ยวมีการพิจารณาที่พักที่มีราคาถูกเป็นทางเลือกมากขึ้น

สำหรับการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.6 และทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อการบริการปรับดีขึ้นในบางพื้นที่ สอดคล้องกับยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี จากโครงการลงทุนของภาครัฐส่วนยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวน้อยลง สำหรับเงินลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการขยายตัวเกือบ 2.5 เท่า ตามโรงงานขนาดใหญ่ อาทิ โรงงานขัดและคัดคุณภาพข้าวสาร โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปสำหรับสัตว์เลี้ยง และโรงงานผลิตเอทานอล เป็นต้น ด้านเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ลดลงในหมวดบริการและสาธารณูปโภค และหมวดเกษตรและผลผลิตการเกษตร เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี กิจการขนาดใหญ่ที่สนใจมาลงทุนในภาคยังเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร อาทิ ธุรกิจผลิตอาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์แช่แข็ง

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐยังมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจในเดือนนี้ โดยมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.7 จากเดือนก่อนที่ลดลง ส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐปีงบประมาณ 2560 ที่เริ่มทยอยเบิกจ่าย โดยรายจ่ายประจำในหมวดงบกลางขยายตัว ส่วนใหญ่จากการเบิกจ่ายในโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ (หมู่บ้านละ250,000 บาท) เช่นเดียวกับรายจ่ายลงทุนที่ขยายตัวในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน และงบกลางในโครงการลงทุนขนาดเล็ก 749 ล้านบาท จากเดือนก่อนที่มีการเบิกจ่ายเพียง 1.3 ล้านบาท

การผลิตภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.2 และยังหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน เป็นผลจากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวหดตัวมากขึ้น เนื่องจากผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการข้าวในตลาดโลกชะลอตัว และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หดตัวมากขึ้น เนื่องจากมีการใช้สินค้าทดแทนอื่นในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ กอปรกับเป็นช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ด้านราคามันสำปะหลังหดตัวน้อยลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดยังไม่มากนัก อย่างไรก็ดี ราคายางพาราเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของผู้ผลิตยางล้อจากญี่ปุ่น จีน ยุโรป และอินเดีย ขณะที่อุปทานยังไม่เพียงพอเนื่องจากภาคใต้ของไทย และมาเลเซียมีฝนตกต่อเนื่องเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง รวมถึงราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้น สำหรับผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้น ตามผลผลิตข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.0 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัวจากการปรับปรุงสายการผลิตบางสาย ประกอบกับการบริโภคที่ลดลง ส่วนการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายขาวลดลงจากที่ผลิตไปมากในช่วงก่อนหน้าประกอบกับความต้องการจากต่างประเทศที่ชะลอลงขณะที่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ขยายตัวจากผลของการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการมาผลิตในภาคที่ยังมีอยู่

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.94 สูงขึ้นจากเดือนก่อน ตามราคาอาหารสด และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.95 ชะลอลงเล็กน้อย ตามราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคในบ้าน สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8

ภาคการเงิน เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์เดือนตุลาคม 2559 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.0 และขยายตัวจากเดือนกันยายน 2559 ตามเงินฝากของส่วนราชการ ด้านสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.1 จากการเบิกใช้สินเชื่อประเภทเงินให้กู้และเงินเบิกเกินบัญชีเป็นสำคัญ

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

30 ธันวาคม 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 0 4391 3542

E-mail: PornnipT@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ