สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนตุลาคม 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 28, 2007 15:39 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนนี้ ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยด้านอุปทาน ผลผลิตข้าว  มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฤดูการผลิตใหม่เริ่มทยอยออกสู่ตลาด ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิลดลง ราคาข้าวเปลือกเหนียว ชะลอตัวลง ส่วนราคามันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงสูงขึ้น  สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง ภาคบริการยังขยายตัวดี เนื่องจากมีโครงการเที่ยวป่าหน้าฝนเยือนอีสานของการท่องเที่ยว   แห่งประเทศไทย รวมถึงมีการจัดงานระดับประเทศหลายงาน  ด้านอุปสงค์  ยังชะลอตัวต่อเนื่องตามการอุปโภคบริโภค และการลงทุน  ภาคเอกชน  อย่างไรก็ตาม รายได้ภาครัฐจากภาษีอากรเพิ่มขึ้นทุกประเภทโดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตที่เพิ่มขึ้นสูงมากจากภาษีเบียร์ รวมถึงการค้าชายแดนที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางด้านการค้าชายแดนไทย-ลาว การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา มีมูลค่าการนำเข้า ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการนำเข้าพืชไร่  ทางด้านเงินฝากยังทรงตัวแต่สินเชื่อชะลอลงเล็กน้อย อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.0
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตรกรรม ผลผลิตข้าว มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูการผลิตปี 2550/51 เริ่มทยอยออกสู่ตลาด ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาข้าวเปลือกเหนียวชะลอตัวลง สำหรับราคา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สูงขึ้นเพราะความต้องการยังมีมาก โดยราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 8,861 บาท ลดลงร้อยละ 2.4 ราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 11,269 บาท สูงขึ้นร้อยละ 12.8 ราคาขายส่ง หัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.82 บาท สูงขึ้นร้อยละ 95.7 ราคาขายส่งมันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.55 บาท สูงขึ้นร้อยละ 28.9 เนื่องจากผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศและเพื่อการส่งออกตามคำสั่งซื้อล่วงหน้าไปยังประเทศในแถบยุโรป ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.70 บาท สูงขึ้นร้อยละ 43.1 เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ของโรงงาน อาหารสัตว์ภายในประเทศ
2. ภาคอุตสาหกรรม ชะลอตัว โดยอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังยังมีวัตถุดิบไม่เพียงพอในการผลิต อุตสาหกรรม ผลิตอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรองเท้า ผลิตได้ลดลง อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตเพิ่มขึ้นตาม การส่งออกที่ขยายตัว
3. ภาคบริการ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.7 เมื่อเทียบกับกับเดือนเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ มีกิจกรรมทางการท่องเที่ยวหลายอย่างได้แก่ การจัดการแข่งขัน วอลเลย์บอลชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย โครงการฝึกร่วมระหว่างทหารไทย-ออสเตรเลีย ที่จังหวัดนครราชสีมา และโครงการเที่ยวป่าหน้าฝน เยือนอีสานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทำให้การท่องเที่ยวในภาคคึกคักขึ้น สำหรับอัตราการเข้าพักของโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 49.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราร้อยละ 47.3
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ชะลอตัว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง สถาบันการเงินมีความเข้มงวด ในการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์มากขึ้น เครื่องชี้สำคัญคือ การจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ จำนวน 27,224 คัน และ รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจำนวน 4,338 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.4 และร้อยละ 5.4 ตามลำดับ การจดทะเบียน รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 2,702 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 ในส่วนปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 อย่างไรก็ตาม การจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัว ดีขึ้น โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงขึ้น จำนวน 663.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก การเพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายห้างสรรพสินค้าและธุรกิจเช่าซื้อ
5. การลงทุนภาคเอกชน ยังชะลอตัว โดยพื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและนคร 150,722.5 ตารางเมตร ลดลงร้อยละ 1.8 ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของพื้นที่ก่อสร้างเพื่อการบริการ เงินลงทุนของโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน 383.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 37.0 ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็กที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง ได้แก่ โครงการผลิตไก่เนื้อ โครงการคัดคุณภาพข้าว โครงการผลิตแหอวน โครงการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ และโครงการกิจการสาธารณูปโภคและบริการพื้นฐาน ในส่วนปริมาณ การใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 สำหรับเงินทุนจดทะเบียน ธุรกิจตั้งใหม่ทั้งบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนจำกัดรวม 391.2 ล้านบาท สูงขึ้นร้อยละ 6.4 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขายส่ง-ขายปลีก และมีโครงการวิทยาลัยเอกชนที่ใช้เงินทุน 50 ล้านบาท ที่จังหวัดอุดรธานี
6. ภาคการคลัง รายได้ของภาคระฐบาล ที่ได้จากการจัดเก็บภาษีอากร โดยเดือนนี้สามารถจัดเก็บได้รวม 2,969 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.3 เป็นการเพิ่มขึ้นของภาษีอากรทุกประเภท จำแนกได้เป็น ภาษีสรรพากร 1,510.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บได้ 1,441.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60.4 ส่วนใหญ่เป็นภาษีสุราซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 63.4 เป็นผลจากภาษีเบียร์เป็นสำคัญ เนื่องจากโรงงานผลิตเบียร์มีการผลิตเพิ่มขึ้นจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในเดือนนี้ ในส่วนการจัดเก็บอากรขาเข้าทั้งสิ้น 17.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.5 ส่วนใหญ่จัดเก็บจากการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ่านด่านศุลกากรมุกดาหาร
7. การค้าต่างประเทศ การค้าชายแดนไทย-ลาว ยังขยายตัวดีต่อเนื่องทั้งการส่งออกและการนำเข้า โดยมูลค่าการค้า ชายแดนไทย-ลาวเดือนนี้ 5,022.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.7 จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออก 3,747.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.4 ประเภทสินค้าสำคัญที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นได้แก่ ยานพาหนะและอุปกรณ์ ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกรถยนต์นั่งใหม่ พวงมาลัยซ้าย และรถเพื่อใช้งานอื่น ๆ (รถเกรด รถบรรทุก และรถแทรคเตอร์) น้ำมันปิโตรเลียม สินค้าบริโภค (น้ำปลา สบู่ ผงชูรส ผงซักฟอก) วัสดุก่อสร้าง ผ้าผืน และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ในส่วนมูลค่าการนำเข้า 1,275.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.9 เป็นการนำเข้า สินแร่ทองแดงผ่านด่านศุลกากรมุกดาหารเป็นสำคัญ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65.3) ยานพาหนะและอุปกรณ์ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า รถยนต์นั่งใหม่พวงมาลัยซ้ายเพื่อส่งไปขายต่อยังประเทศกัมพูชา ที่เหลือเป็นการนำกลับรถยนต์เก่า (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.4) สำหรับผลิตภัณฑ์ไม้ลดลงมาก ทางด้านมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา 3,158.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.2 เป็นผลจากการนำเข้าที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยมูลค่าการนำเข้า 274.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าพืชไร่ (เมล็ดถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ซึ่งขยายตัวจากปีก่อนกว่า 3 เท่าตัว และเสื้อผ้าเก่า/ผ้าห่มเก่า สำหรับมูลค่าการส่งออก 2,884.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ประเภทสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องจักรกลการเกษตร (รถไถนาเดินตาม) อย่างไรก็ตาม มีสินค้าส่งออกสำคัญหลายตัวที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ น้ำตาล วัสดุก่อสร้าง น้ำมันปิโตรเลียมและเชื้อเพลิง เครื่องแต่งกายและรองเท้า
8. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.0 เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหาร และเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 3.5 และหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 2.6 ตามลำดับ ราคาสินค้าในหมวดอาหารและ เครื่องดื่มที่มีราคาสูงขึ้นมาก ได้แก่ ข้าวสารเหนียว เครื่องปรุงอาหาร ไข่และผลไม้สด ในส่วนราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง หนังสือ ผลิตภัณฑ์ไวน์ และยาสูบ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.1
9. ภาคการจ้างงาน ภาวะการทำงานของประชากรเดือนกันยายน 2550 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้มีงานทำทั้งสิ้น 11.5 ล้านคน เป็นผู้ทำงานในภาคเกษตร 6.6 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 4.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ทำงานในสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน และสาขาการผลิต สำหรับการว่างงาน มีผู้ว่างงานจำนวน 0.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 ด้านภาวะการจ้างงานในภาคเดือนนี้มีตำแหน่งงานว่าง 3,938 อัตรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.4 โดยมีผู้สมัครงาน 5,365 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 และผู้ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 1,995 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 ส่วนใหญ่จะเป็นงานในอุตสาหกรรมการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ สำหรับคนไทยในภาคที่เดินทางไปทำงานยัง ต่างประเทศจำนวน 8,150 คน ลดลงร้อยละ 0.7 กว่าร้อยละ 40.0 ยังนิยมไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน
10. ภาคการเงิน ณ สิ้นกันยายน 2550 ธนาคารพาณิชย์ในภาคมีเงินฝากคงค้าง 345,332 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากออมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 ส่วนสินเชื่อคงค้าง 324,074 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 สินเชื่อคงค้างสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล โดยเฉพาะ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อการผลิต ในส่วนสินเชื่อที่ลดลง ได้แก่ สินเชื่อแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ และสินเชื่อเพื่อการก่อสร้าง อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเท่ากับร้อยละ 93.8
ข้อมูลเพิ่มเติม : นางสิรีธร จารุธัญลักษณ์ โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3432 e-mail: SireethJ@bot.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ