สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนตุลาคม 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 30, 2006 17:26 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          เดือนตุลาคม 2549 ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือชะลอตัวลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน รายได้เกษตรกร  ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย แต่ยังเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาข้าวเปลือกและ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้น แต่ราคามันสำปะหลังลดลง การใช้จ่ายภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว  อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีอากรยังเพิ่มขึ้น เงินฝากและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ยังขยายตัวต่อเนื่อง มูลค่าการค้าชายแดน  ไทย - กัมพูชาเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าการค้าชายแดนไทย - ลาวลดลง ตามมูลค่าการนำเข้า  อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.7
1. ภาคการเกษตร ข้าว ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะราคาข้าวเปลือกเหนียวยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี โดยในเดือนนี้ราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 9,987 บาท สูงขึ้นถึงร้อยละ 72.4 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน สำหรับราคาขายส่งข้าวเปลือกเจ้า 5% เฉลี่ยเกวียนละ 9,083 บาท สูงขึ้นร้อยละ 13.1 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน มันสำปะหลังผลผลิตได้รับผลกระทบจากพายุช้างสาร เนื่องจากเกิดน้ำท่วมขัง มีผลให้คุณภาพหัวมัน มีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ ราคาขายส่งหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 0.93 บาท เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนกิโลกรัมละ 1.24 บาท ลดลงร้อยละ 25.0 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง กอปรกับความต้องการของโรงงานอาหารสัตว์ที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น โดยราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.38 บาท เทียบกับเดือนเดียวกัน ของปีก่อนกิโลกรัมละ 4.95 บาท สูงขึ้นร้อยละ 8.7
2. การผลิตภาคอุตสาหกรรม การผลิตของอุตสาหกรรมที่สำคัญของภาคฯ ชะลอตัว เป็นผลจากการชะลอ การผลิตของอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง เนื่องจากฝนตกหนัก กอปรกับการผลิตของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มลดลงตาม ความต้องการของตลาดในประเทศ
3. การใช้จ่ายภาคเอกชน เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยยอดการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลใหม่ในเดือนนี้ มีจำนวน 2,461 คัน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลมีจำนวน 4,587 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.0 และ ร้อยละ 4.4 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะราคาน้ำมันที่ปรับลดลง และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ทำให้ประชาชนมั่นใจ ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนนี้ 610.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากยอดจำหน่ายของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกและยอดจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.9 อย่างไรก็ตาม ยอดจดทะเบียน รถจักรยานยนต์อยู่ที่ 32,572 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.2 เนื่องจากภาวะตลาดรถจักรยานยนต์เริ่มอิ่มตัว
4. การลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัวลงโดยการจดทะเบียนบริษัทจำกัดตั้งใหม่ มีทุนจดทะเบียน 145.7 ล้านบาท และการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดตั้งใหม่ ทุนจดทะเบียน 222.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 57.3 และร้อยละ 21.9 ตามลำดับ โดยประเภทของธุรกิจสำคัญที่มีทุนจดทะเบียนลดลง ได้แก่ ธุรกิจการไฟฟ้าและธุรกิจขายส่ง - ขายปลีก โครงการที่ได้รับอนุมัติ การส่งเสริมการลงทุนมีจำนวน 10 โครงการ เท่ากับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่เป็นโครงการขนาดเล็กใช้เงินลงทุนเพียง 608.0 ล้านบาท ต่ำกว่าเงินลงทุนในเดือนเดียวกันของปีก่อน 3,325.0 ล้านบาท สำหรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.1 เทียบกับเดือนที่แล้วมีอัตราเพิ่มร้อยละ 10.7
5. การค้าชายแดน มูลค่าการค้าชายแดนไทย - ลาว มีมูลค่าการค้า 2,039.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการส่งออก 1,793.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานพาหนะและ อุปกรณ์ สินค้าหมวดทุน วัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ ส่วนมูลค่าการนำเข้า 246.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 58.0 เป็นการลดลงของสินค้า เกือบทุกหมวด สำหรับการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มีมูลค่าการค้า 3,002.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 เป็นการส่งออก 2,871.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้าง สิ่งทอ และ น้ำมันปิโตรเลียม ส่วนมูลค่าการนำเข้า 131.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.0 สินค้าสำคัญที่นำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็ก ทองแดง กระดาษ และพืชไร่
6. ภาคการเงิน ณ สิ้นกันยายน 2549 ธนาคารพาณิชย์ในภาคฯ มีเงินฝากคงค้าง 330,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.2 และสินเชื่อคงค้าง 292,667 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน สินเชื่อคงค้างสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล สินเชื่อการขายส่งและขายปลีก ส่วนสินเชื่อสำคัญที่มียอดคงค้างลดลง ได้แก่ สินเชื่อ เพื่อการก่อสร้าง อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเป็นร้อยละ 88.5 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 83.5
7. ภาคการคลังรัฐบาล การจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนนี้จัดเก็บ ภาษีอากรรวมทั้งสิ้น 2,314.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 ภาษีสรรพากร 1,404.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 610.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 ส่วนใหญ่เก็บได้จากโรงงานผลิตเบียร์ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ ยานยนต์ โรงงานผลิตวัสดุที่ทำจากยาง โรงงานแป้งมัน โรงงานน้ำตาล กิจการค้าส่งและค้าปลีก ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ และ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ภาษีสรรพสามิต 898.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ส่วนใหญ่เป็นการจัดเก็บภาษีสุรา 872.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 อากรขาเข้า 11.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.5
8. ภาคการจ้างงาน จากรายงานของศูนย์ข่าวสารตลาดแรงงานจังหวัดขอนแก่น มีผู้สมัครงาน 4,213 คน ตำแหน่งงานว่าง 2,998 อัตรา ลดลงร้อยละ 5.9 และลดลงร้อยละ 57.4 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ผู้ที่ได้รับการบรรจุ เข้าทำงาน 1,536 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนผู้ได้รับการบรรจุเข้าทำงานต่อผู้สมัครงานคิดเป็น ร้อยละ 36.5 และผู้ได้รับการบรรจุงานต่อตำแหน่งงานว่างคิดเป็นร้อยละ 51.2 คนไทยในภาคฯ ที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ มีจำนวน 8,211 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ไปทำงานในไต้หวันมากที่สุด รองลงมาคือ อิสราเอล เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และบรูไน
9. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อในภาคฯ เดือนนี้สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.7 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้น ของราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 7.8 และราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 1.1 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปโดยหักราคาสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงาน) ในภาคฯ เดือนนี้สูงขึ้นจาก เดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.2

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ