แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 31, 2008 16:25 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ภาวะเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน 2551 โดยรวมยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเฉพาะด้านอุปทานที่ขยายตัว  ในเกณฑ์ดี ทั้งผลผลิตพืชผลสำคัญ และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม  สำหรับด้านอุปสงค์ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน และดัชนีการลงทุน  ภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้น เช่นเดียวกับการส่งออกที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี
เมื่อพิจารณาทั้งไตรมาสที่ 2 ปี 2551 เครื่องชี้ด้านอุปสงค์แสดงภาวะการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากไตรมาสแรก แต่แรงส่งไม่สูงนัก เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจต่ำลงจากต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตามแรงกดดันของราคาน้ำมันเป็นสำคัญ กอปรกับความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีอยู่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของภาครัฐ และมาตรการบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพ และการส่งออกที่ยังคงขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญ ขยายตัวดี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น และมีส่วนช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัว ได้ดีต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน
เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล และเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ทางด้าน เสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน 2551 และไตรมาสที่ 2 ปี 2551 มีดังนี้
1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.2 สูงขึ้นจากเดือนก่อน หมวดที่การผลิต ขยายตัวดี ได้แก่ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ หมวดอาหาร และหมวดยานยนต์ ตามอุปสงค์จากต่างประเทศ
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 73.0 ลดลงจากร้อยละ 74.5 ในเดือนก่อน
ทั้งนี้ หากพิจารณาทั้งไตรมาสที่ 2 ปี 2551 การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 10.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลง จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 12.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 72.3 ลดลงจากร้อยละ 76.7 ในไตรมาสก่อน
2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ที่เร่งตัวขึ้นจากการนำเข้าสินค้าประเภทอาหาร นาฬิกาและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และดัชนีหมวดเชื้อเพลิงขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการเร่งตัวขึ้นของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ โดยเฉพาะการนำเข้าในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างยังคงทรงตัวในระดับต่ำ โดยปริมาณ การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศหดตัวลง
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 6.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัว ที่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยดัชนีหมวดเชื้อเพลิงเร่งขึ้นตามการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่เครื่องชี้การอุปโภค บริโภคอื่น ๆ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) ขยายตัวร้อยละ 4.2 ชะลอตัวลง จากไตรมาสก่อน ตามการชะลอลงของทั้งการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง
3. ภาคการคลัง รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 132.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.1 จากรายได้ที่มิใช่ภาษี เป็นสำคัญ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งนำส่งรายได้ที่ค้างส่งจากปีก่อน และกรมธนารักษ์นำส่งรายได้จากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์สูงกว่า ที่ประมาณการไว้ สำหรับรายได้ภาษี เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ตามการขยายตัวของเกือบทุกฐานภาษี ยกเว้นภาษีจากฐานรายได้ที่หดตัวจาก ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เนื่องจากปีก่อนมีการชำระภาษีเหลื่อมเดือน ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลชะลอลง ตามภาษีหัก ณ ที่จ่าย และจากกำไรสุทธิที่ลดลง ตามลำดับ ภาษีฐานการบริโภคเพิ่มขึ้นตามภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวตามการนำเข้าและ ราคาสินค้าภายในประเทศที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นจากภาษีสุราและเบียร์เป็นสำคัญ ในขณะที่ภาษีธุรกิจเฉพาะลดลง ต่อเนื่องจากผลของมาตรการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับการจัดเก็บภาษีธุรกรรมของสถาบัน การเงินที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง สำหรับดุลเงินสด รัฐบาลเกินดุล 141.5 พันล้านบาท เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนเพิ่มขึ้น 116.4 พันล้านบาท อยู่ที่ 188.9 พันล้านบาท เนื่องจากเป็นการนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลื่อมเดือน
ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2551 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ 576.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.5 ดุลเงินสดเกินดุล 119.2 พันล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงตกงวดภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยกู้ยืมสุทธิ 15.3 พันล้านบาท ทำให้เงินคงคลังเพิ่มขึ้น 134.4 พันล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นเป็น 188.9 พันล้านบาท จาก 54.5 พันล้านบาท เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 2
4. ภาคต่างประเทศ ดุลการค้า เกินดุล 926 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการส่งออกและนำเข้าเร่งขึ้นจากเดือนก่อน การส่งออกมีมูลค่า 16,145 ล้านดอลลาร์ สรอ.ขยายตัวร้อยละ 28.5 จากการส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม คอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้น สำหรับการนำเข้า มีมูลค่า 15,220 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 31.5 โดยราคาเร่งขึ้นในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ ขณะที่ปริมาณนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก ที่หดตัวในเดือนก่อน ตามการนำเข้าในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน รวมทั้งการนำเข้าวัตถุดิบสอดคล้องกับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในหมวดเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันเพิ่มขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของราคาเป็นสำคัญ เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่ขาดดุล 203 ล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากเป็นช่วงส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทเอกชน ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 722 ล้านดอลลาร์ สรอ. และดุลการชำระเงินขาดดุล 3,752 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 อยู่ที่ ระดับ 105.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมียอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ จำนวน 18.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
ทั้งนี้ จากข้อมูลเร็วเบื้องต้น เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ1/ เดือนมิถุนายน 2551 ขาดดุลสุทธิ 3,856 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่วนใหญ่ จากการไหลออกของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งของต่างชาติและคนไทย
สำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ดุลการค้า เกินดุล 425 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการส่งออกที่ขยายตัวดี โดยมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 45,072 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 26.3 ตามการส่งออกสินค้าเกษตรที่ขยายตัวดีจากราคาเป็นสำคัญ สำหรับการส่งออกสินค้า อุตสาหกรรมขยายตัวได้ดี ตามการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูงที่ยังค ขยายตัวดีต่อเนื่อง ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 44,647 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.3 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาที่เร่งขึ้น ขณะที่ปริมาณ การนำเข้าชะลอลงจากไตรมาสก่อนโดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ และหมวดสินค้าทุน เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้และเงินโอน ขาดดุล 733 ล้านดอลลาร์ สรอ. เปลี่ยนจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่เกินดุลเล็กน้อย เนื่องจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของภาคเอกชน ที่เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับรายรับผลประโยชน์จากการลงทุนในต่างประเทศของภาคเอกชนลดลงจากอัตราดอกเบี้ย ที่ปรับลดลงและการลดลงของสินทรัพย์ต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุล 308 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นตัวเลขเบื้องต้นขาดดุลตามการไหลออกของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งของต่างชาติ และคนไทย ดุลการชำระเงิน จึงขาดดุล 2,491 ล้านดอลลาร์ สรอ.
5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนมิถุนายน 2551 อยู่ที่ร้อยละ 8.9 เร่งตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวด พลังงานและอาหารสด ทำให้มีการส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไปยังราคาในหมวดที่ไม่ใช่พลังงานและอาหารสด ส่งผลให้อัตรา เงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.6 โดยราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหารบริโภคในและนอกบ้าน เครื่องประกอบอาหาร ค่าโดยสารสาธารณะ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 18.6 จากการปรับ สูงขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ขณะที่ราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง
สำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2551 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 7.5 และ 2.8 ตามลำดับ เร่งขึ้นจาก ไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 5.0 และ 1.5 ตามลำดับ ตามราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นในเกือบทุกหมวด
6. ภาวะการเงิน เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน2/ (Depository Corporations) ทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากนับรวม การออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) ซึ่งมีลักษณะคล้ายการรับฝากเงินเข้าไปในเงินฝากแล้ว เงินฝากของสถาบัน รับฝากเงินจะขยายตัวร้อยละ 7.7 สำหรับสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 9.3 เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการฟื้นตัวของสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจ ในขณะที่สินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนยังคงขยายตัวดี
ฐานเงิน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 ขยายตัวร้อยละ 13.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง (Broad Money) ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี ปริมาณเงินดังกล่าวยังไม่ได้นับรวมการออกตั๋วแลกเงิน โดยธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหากรวมการออกตั๋วแลกเงินจะขยายตัวร้อยละ 3.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน
อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วันเฉลี่ย อยู่ที่ร้อยละ 3.23 และ 3.22 ต่อปี ในเดือนมิถุนายนและไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ตามลำดับ สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทรงตัวอยู่ที่ ร้อยละ 3.25 ต่อปี
ในช่วงวันที่ 2-25 กรกฎาคม 2551 อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันและอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน ปรับเพิ่มขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.35 และ 3.32 ต่อปี ตามลำดับ ตามมติ กนง. ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2551 ร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 3.50 ต่อปี
7. อัตราแลกเปลี่ยนและดัชนีค่าเงินบาท ในเดือนมิถุนายน 2551 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอยู่ที่ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ยในเดือนพฤษภาคมที่ 32.11 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. โดยเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับ ค่าเงินภูมิภาค จากความต้องการดอลลาร์ สรอ. ของผู้นำเข้าและการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนดัชนี ค่าเงินบาท (NEER) อ่อนตัวลงจากระดับ 78.94 ในเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 76.76 ในเดือนนี้ จากการที่ค่าเงินบาทอ่อนลงเทียบกับ เงินสกุลหลักเป็นสำคัญ
เมื่อพิจารณาทั้งไตรมาสที่ 2 ปี 2551 อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอยู่ที่ 32.33 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น จากไตรมาสก่อนเล็กน้อย โดยในระหว่างไตรมาสมีการปรับทิศทางจากการแข็งค่าเป็นการอ่อนค่าลงโดยเฉพาะในช่วงปลายไตรมาส จากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศประกอบกัน ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนลงร้อยละ 0.7 จากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อน
ในช่วงวันที่ 2-25 กรกฎาคม 2551 อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนลงมาอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากการที่ผู้นำเข้ายังมีความต้องการซื้อดอลลาร์ สรอ. อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีเงินทุนไหลออกจากนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงขายหุ้นในตลาด หลักทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ