ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ขยายตัว แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยทางด้านอุปทาน ชะลอลงทั้งผลผลิตพืชผลสำคัญ อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ทางด้านอุปสงค์ การ อุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นตามรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากราคาพืชผลที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันการส่งออกขยายตัว ขณะที่การลงทุนชะลอลง โดยเฉพาะการก่อสร้าง ส่วนการเบิกจ่าย งบประมาณลดลง รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 มีดังนี้
1. ภาคเกษตร รายได้จากการขายพืชผลสำคัญของเกษตรกรขยายตัวร้อยละ 62.4 ตาม ปริมาณผลผลิตพืชผลสำคัญที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 จากการเพิ่มขึ้นของปาล์มน้ำมันและยางพารา ขณะเดียวกัน ราคาผลผลิตสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.9 โดย ราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 95.10 บาทเพิ่มขึ้น ร้อยละ 44.0 ส่วนปาล์มน้ำมันทั้งทะลายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.65 บาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ซึ่งมีแนวโน้มจะชะลอ ลงตามราคาในตลาดโลกด้วยเช่นกัน
ด้านการประมง ปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือในภาคใต้ในไตรมาสนี้ลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.2 และร้อยละ 11.3 ตามลำดับ โดยมีผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น ทรัพยากร สัตว์น้ำทางทะเลในประเทศลดลง และการเข้มงวดในการทำประมงในน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ส่วนการเพาะเลี้ยงกุ้ง เกษตรกรบางส่วนชะลอการเพาะเลี้ยงเนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น กอปรกับราคากุ้งที่ตกต่ำ ทำให้ผลผลิตกุ้งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนลดลงร้อยละ 7.8 ด้านราคา ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคากุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม เฉลี่ยกิโลกรัมละ 124.37 บาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส เดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 18.5
2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เป็นผลจาก อุตสาหกรรมเพื่อส่งออกและอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในประเทศ การผลิตขยายตัว โดยอุตสาหกรรมยาง มีปริมาณ ส่งออก จำนวน 662,804.0 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.8 ตามความต้องการของ ตลาดจีนเป็นสำคัญ อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการส่งออก 28,868.8 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.6 ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกกุ้งไปตลาดญี่ปุ่นและยุโรป และอาหารบรรจุกระป๋อง 35,750.2 เมตริกตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 เป็นการขยายตัวในตลาดตะวันออกกลาง ส่วนผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบมีจำนวน 400,735.7 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 46.7 ตามปริมาณวัตถุดิบ และมีการส่งออก น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.2 ส่วนใหญ่ส่งไปประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย เนเธอร์แลนด์และเวียดนาม
3. การท่องเที่ยว ภาวะท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยมีนักท่องเที่ยวชาว ต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ ประมาณ 712,868 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 8.8 จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวในภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดสงขลาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9 เนื่องจากรัฐและภาคเอกชนร่วมกันจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวมั่นใจในความปลอดภัย ส่วนภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีนักท่องเที่ยวลดลง โดยจังหวัดภูเก็ตลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.9 เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีน ประกอบกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีการปิดสนามบิน ทำให้มีสายการบินยกเลิกเที่ยวบิน รวมทั้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่มั่นใจใน ความ ปลอดภัย ทำให้นักท่องเที่ยวแถบเอเชีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์และมาเลเซีย เดินทางเข้ามาลดลง อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวออสเตรเลียและเกาหลีซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 13.5 และร้อยละ 14.7 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาภูเก็ต ยังคงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.0 และ10.9 ตามลำดับ
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว เนื่องจากราคาพืชผลที่สำคัญอยู่ในระดับสูงและ ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ประกอบกับภาครัฐมีนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือประชาชน ทำให้กำลัง ซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ตามการขยายตัวของเครื่องชี้ การบริโภคที่สำคัญได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ปี 2543 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 ดัชนียานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 และการใช้ไฟฟ้าที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4
5. การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนโดยรวมชะลอลง โดยพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขต เทศบาลมีจำนวน 418,065 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.9 ชะลอลงจากไตรมาส ก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.5 ส่วนการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยจำนวนราย และเงินทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 และ 40.8 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการจดทะเบียนในจังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และสงขลา และกิจการที่มีการจดทะเบียนมากเป็นกิจการรับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และ โรงแรม ภัตตาคารร้านอาหาร สำหรับโครงการลงทุนที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการ ลงทุน(BOI) ลดลงทั้งจำนวนรายและเงินลงทุน เนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่เพียง 2 โครงการ เป็นกิจการ โรงแรมและผลิตไบโอดีเซล
6. การจ้างงาน ตำแหน่งงานว่าง มีจำนวน10,789 อัตรา และมีผู้สมัครงาน 11,144 คน ลดลง ไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.4 และ 14.1 ตามลำดับ ส่วนการบรรจุงาน มีจำนวน 11,046 อัตรา เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 18.3
7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้ในไตรมาสนี้เท่ากับร้อยละ 8.8 โดยราคาสินค้า หมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.2 และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ตามราคาสินค้าหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร หมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับอัตรา เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 4.9
8. การค้าต่างประเทศ มูลค่าการค้าต่างประเทศรวมของภาคใต้มีทั้งสิ้น 5,694.2 ล้าน ดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 45.3 เป็นมูลค่าการส่งออก จำนวน 3,688.6 ล้าน ดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 39.1 ตามมูลค่าส่งออกสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.5 ไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 สัตว์น้ำแปรรูปและแช่แข็ง เพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.8 และอาหารทะเลบรรจุกระป๋องเพิ่มขึ้นร้อยละ 57.8 ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 2,005.5 ล้านดอลลาร์ สรอ.เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 58.3 จากมูลค่าการนำเข้าสัตว์น้ำแช่แข็งและเครื่องจักรอุปกรณ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.2 และ 67.4 ตามลำดับ
9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆในภาคใต้ มีจำนวน 28,619.9 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.3 ผลจากเกือบทุกคลังจังหวัดมีการเบิกจ่าย ลดลง ส่วนทางด้านรายได้มีการจัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 8,298.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 5.9 เป็นผลจากจัดเก็บภาษีสรรพากรได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ส่วนภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรลดลง ร้อยละ 10.1และ 1.2 ตามลำดับ
10. การเงิน เงินฝากขยายตัว คาดว่า ณ สิ้นเดือนกันยายนนี้ เงินฝากเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 เนื่องจากปัญหาวิกฤตการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ผู้มีเงินออมกลับมาออมเงินในลักษณะเงินฝาก กับระบบธนาคาร มากขึ้น ทางด้านสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 14.8 ในอัตราที่ชะลอลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ ตัว สินเชื่อที่ขยายตัว ยังคงเป็นสินเชื่อที่ให้กับภาคครัวเรือน แนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2551
สำหรับไตรมาส 4 คาดว่า มีแนวโน้มชะลอตัว แม้ว่าราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้ม ลดลงก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอน ประกอบกับรายได้เกษตรกรมีแนวโน้มชะลอลง จากการที่ราคายางและปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มลดลงตามราคาในตลาดโลก อันเนื่องมาจากความต้องการและ การ ซื้อขายในตลาดล่วงหน้าลดลง ทำให้ลงทุนชะลอลงและมีการเลื่อนการบริโภคบางส่วนออกไป นอกจากนี้ การส่งออกและการท่องเที่ยวจะชะลอตัวตามการชะลอตัวลงเศรษฐกิจโลก
ข้อมูลเพิ่มเติม : นายพสุธา ระวังสุข โทร.0-7423-6200 ต่อ 4345 e-mail : [email protected]