สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่สี่ปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 30, 2009 17:18 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากไตรมาสก่อน โดยด้านอุปทาน ภาคเกษตรผลผลิตพืชสำคัญออกสู่ ตลาดมากขึ้น แต่ราคาพืชผลส่วนใหญ่ลดลง การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น จากการผลิตเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมน้ำตาล และ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ภาคบริการชะลอตัว ด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวต่อเนื่อง การลงทุน ภาคเอกชนลดลง การค้าชายแดนไทย-ลาว และไทย-กัมพูชาชะลอตัว ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่ชะลอลง ที่เห็นได้ชัดคือ การส่งออก น้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงตามมูลค่าน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสนี้ รายได้ภาครัฐบาลชะลอลง ตามภาษีสรรพากรและ ภาษีสรรพสามิต ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณลดลง เนื่องจาก พรบ. งบประมาณรายจ่ายปี 2552 มีผลบังคับใช้ล่าช้ากว่าปกติ ทางด้าน ภาคการเงินขยายตัวเล็กน้อย โดยเป็นผลจากเงินฝากประจำเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อชะลอลง เนื่องจากการชะลอการลงทุนของภาคธุรกิจ และการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อที่คาดว่าจะชะลอตัวได้แก่ สินเชื่อจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง สินเชื่อธุรกิจ โรงแรมและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ชะลอลงจากไตรมาสที่ 3 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 เป็นผลจากการลดลงของราคา น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา เป็นสำคัญ

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. ภาคเกษตรกรรม ในไตรมาสนี้ผลผลิตพืชสำคัญออกสู่ตลาดมากขึ้น ด้านราคาข้าวเปลือกเหนียว มันสำปะหลัง มันเส้น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง ในขณะที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน

ข้าว ราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยไตรมาสนี้เกวียนละ 12,666 บาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 37.7 ชะลอจากไตรมาสที่ 3 เนื่องจากความต้องการใช้ภายในประเทศและความต้องการนำเข้าของต่างประเทศชะลอตัว เป็นเหตุ ให้ราคาอ่อนตัวลงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง ราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยไตรมาสนี้เกวียนละ 6,302 บาท ลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.8 เนื่องจากผลผลิตข้าวเหนียวมากกว่าความต้องการ

มันสำปะหลัง ราคาขายส่งหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยไตรมาสนี้กิโลกรัมละ 1.33 บาท ราคาขายส่งมันเส้นเฉลี่ยไตรมาสนี้ กิโลกรัมละ 3.46 บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.2 และร้อยละ 20.4 จากสถานการณ์ผลผลิตธัญพืชของโลกที่มี มากขึ้นเพราะสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ตลอดจนตลาดในแถบประเทศยุโรปไม่มีคำสั่งซื้อ และความต้องการมันเส้นจากจีนลดลง ส่งผลให้ราคาทั้งหัวมันสดและมันเส้นลดลง ทำให้เกษตรกรนำหัวมันสำปะหลังเข้าร่วมโครงการ จำนำของรัฐ โดยราคารับจำนำหัวมันสำปะหลังที่เชื้อแป้ง 25% ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2551 กิโลกรัมละ 1.80 บาท และ 1.85 บาท ตามลำดับ

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยไตรมาสนี้กิโลกรัมละ 6.47 บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 14.3 จากความต้องการใช้ของโรงงานอาหารสัตว์ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง ทำให้ เกษตรกรนำข้าวโพดเข้าร่วมโครงการจำนำมากขึ้น โดยราคารับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้น 14.5% กิโลกรัมละ 8.50 บาท

สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่สี่ ปี2551

2. ภาคอุตสาหกรรม การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการผลิต เพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล เนื่องจากมีการผลิตน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงปิดหีบอยู่ก็ตาม อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ที่มีแอลกอฮอล์มีการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดในประเทศและต่างประเทศขยายตัว สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมแป้งมัน และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากการส่งออกชะลอตัว

3. ภาคบริการ ชะลอตัวโดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาสที่ 3 เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศและภาวะน้ำท่วม ในบางพื้นที่ของภาคส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการท่องเที่ยวทำให้การท่องเที่ยวชะลอตัวลง ถึงแม้ว่าในช่วงไตรมาสนี้ จะเป็นช่วงฤดูกาล ท่องเที่ยวที่มีอากาศหนาวเย็นเหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวและมีเทศกาลที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวหลายแห่งก็ตาม โดยอัตราการเข้าพัก โรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 42.0 ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักที่ร้อยละ 49.0

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนชะลอการใช้จ่าย

เครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่ การจดทะเบียนรถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลมีจำนวน 15,255 คัน ลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.6 เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งยังชะลอการใช้จ่าย ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์จำนวน 90,059 คัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.9 เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นแต่ก็ชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ทั้งสิ้น 2,311.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.3 ชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

สำหรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.2 ขยายตัวจากไตรมาสก่อน

5. การลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น

ในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงชะลอการลงทุน โดยภาคอุตสาหกรรมลดลงจากโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนซึ่งมีมูลค่า 6,864.0 ล้านบาท ลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 73.5 เนื่องจากในเดือนพฤศจิกายน 2550 มีการลงทุนขนาดใหญ่ จากโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้า จากพลังงานลมที่จังหวัดมุกดาหารและสกลนคร ซึ่งมีเงินลงทุนสูงถึง 14,557.0 ล้านบาท และโครงการผลิตเอทานอลที่จังหวัด นครราชสีมาและอุบลราชธานี ใช้เงินลงทุน 9,614.0 ล้านบาท

การก่อสร้างภาคเอกชนลดลง โดยมีพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร 424,080.5 ตารางเมตร ลดลงร้อยละ 38.9 เป็นผลจากในเดือนพฤศจิกายน 2550 มีการขออนุญาตก่อสร้างห้างสรรพสินค้าในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีพื้นที่ถึง 263,446.0 ตารางเมตร

สำหรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.6 ชะลอลง จากไตรมาสก่อน

อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคการค้าปรับตัวดีขึ้น การจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่มีทุนจดทะเบียน 1,435.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.5 เป็นผลจากการประกอบธุรกิจโรงแรมในจังหวัดอุดรธานีในเดือนพฤศจิกายน 2551 ซึ่งมี เงินลงทุนถึง 300.0 ล้านบาท

6. ภาคการคลัง รายได้ของภาคระฐบาล ไตรมาสนี้สามารถจัดเก็บภาษีอากรรวมทั้งสิ้น 9,291.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบ กับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.4 ชะลอลงจากไตรมาสที่ 3 ตามการชะลอตัวของภาษีสรรพากร และภาษีสรรพสามิต ส่วนอากร ขาเข้าจัดเก็บได้ลดลง มีรายละเอียดดังนี้

สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่สี่ ปี2551

ภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 4,564.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน ตามการชะลอลงของ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากยอดการผลิตและจำหน่ายของภาคเอกชนบางแห่งชะลอลง ตามการ ชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ

ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้ 4,661.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากภาษีสุรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเบียร์เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากในเดือนตุลาคมของปีก่อนผู้ประกอบการมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ จึงเพิ่มกำลัง การผลิต ทำให้ฐานปีก่อนสูง อย่างไรก็ดี ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมของปีนี้ผู้ประกอบการมีการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับ เทศกาลปีใหม่

ภาษีอากรขาเข้าจัดเก็บได้ 64.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.8 ตามการลดลงของอากรขาเข้าในด่านศุลกากรมุกดาหาร ส่วนหนึ่งจากการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง ประกอบกับผู้ประกอบการที่นำเข้าสินแร่ทองแดงได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระอากรขาเข้า แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีการจัดเก็บอากรขาเข้าเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีนผ่านด่านศุลกากรพิบูลมังสาหาร และด่านศุลกากรนครพนมแทน

การเบิกจ่ายงบปรัมาณ ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2552 มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 40,434.7 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 16.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นการลดลงจากรายจ่ายในปีปัจจุบันร้อยละ 19.0 เนื่องจาก พรบ. งบประมาณ รายจ่ายปี 2552 เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 ซึ่งล่าช้ากว่าปกติ โดยส่วนราชการที่เบิกจ่ายลดลง ได้แก่ สำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ในขณะที่รายจ่ายกันไว้ปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 แบ่งเป็น

รายจ่ายลงทุน 5,133.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 72.3 เป็นการลดลงจากรายจ่ายในปีปัจจุบัน เนื่องจากสำนักงาน ปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับจัดสรรเงินงบประมาณช้ากว่าปีก่อน จึงเบิกจ่ายรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปได้ลดลง ส่วนรายจ่ายกันไว้ ปีก่อนมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ

รายจ่ายปรัจำ 35,297.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายที่กันไว้ปีก่อนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 71.3 ในรายจ่ายหมวดค่าตอบแทนพนักงานราชการ

7. การค้าต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย - ลาว มีมูลค่าการค้า 17,412.0 ล้านบาทใกล้เคียงกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 17,416.9 ล้านบาท แต่ชะลอลงจากไตรมาสที่ 3 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกที่ชะลอลง และการนำเข้าลดลง มีรายละเอียดดังนี้

การส่งออก 13,287.3 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ชะลอลงจากไตรมาสที่ 3 สินค้าส่งออกที่ลดลง ได้แก่ เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องดื่ม เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ สำหรับน้ำมันปิโตรเลียม เชื้อเพลิงอื่น ๆ และสารหล่อลื่นลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนทำให้มูลค่าลดลง

การนำเข้า 4,124.7 ล้านบาทลดลงร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของ สินแร่ ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์เกษตร ส่วนสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้นได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เนื่องจาก นโยบายผ่อนคลายการส่งออกไม้ของลาว และการนำกลับเครื่องจักรและอุปกรณ์เก่าที่เสร็จสิ้นการใช้งาน

การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มีมูลค่าการค้า 11,428.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.6 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน แยกเป็น

การส่งออก 10,613.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.4 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกน้ำตาลลดลงจากการที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ขอความอนุเคราะห์ไม่ให้มีการส่งออกน้ำตาลทราย เป็นการชั่วคราวเนื่องจากมีการลักลอบนำน้ำตาลที่ส่งออกกลับเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและ น้ำตาลทราย น้ำมันปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงอื่นลดลงเนื่องจากการปรับลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง ยารักษาโรคลดลงเนื่องจาก ทางกัมพูชามีการผลิตยาภายในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อลดการนำเข้า

สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่สี่ ปี2551

การนำเข้า 815.1 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.5 ลดลงจากไตรมาสก่อน ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 79.0 เนื่องจากเกิดการแข่งขันในด้านราคารับซื้อพืชไร่ สินค้านำเข้าสำคัญส่วนใหญ่ยังเป็นการนำเข้าพืชไร่ (ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง พริก พริกไทย)

8. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.2 ชะลอลงจากไตรมาสที่ 3 เป็นผลจากการลดลงของราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ลดลงร้อยละ 5.7 เป็นสำคัญ ส่วนราคาสินค้า ในหมวดอาหารและเครื่องดื่มกลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 15.2 ในไตรมาสที่ 3 เป็นร้อยละ 17.2 ในไตรมาสนี้

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่มีราคาลดลงได้แก่ หมวดเคหสถานลดลงร้อยละ 8.5 จากมาตรการ ของรัฐบาล 6 เดือน 6 มาตรการ ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน ทำให้ค่าน้ำประปาลดลงร้อยละ 72.8 และค่าไฟฟ้าลดลงร้อยละ 41.4 หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ 7.9 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 16.2 ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มี ราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ค่าโดยสารสาธารณะปรับลดลงร้อยละ 7.8

หมวดอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นมากได้แก่ หมวดผักและผลไม้ร้อยละ 36.0 เนื่องจากในหลายพื้นที่ ได้รับผลกระทบที่เกิดภาวะน้ำท่วมทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 20.7 อาหารปรุงที่บ้าน ร้อยละ 19.4 เนื้อสัตว์ร้อยละ 17.5 และไข่ร้อยละ 13.3

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.1 ลดลงจากไตรมาสที่ 3

9. ภาคการจ้างงาน ด้านภาวะการจ้างงาน มีตำแหน่งงานว่าง 10,077 อัตรา ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.4 โดยมีผู้สมัครงาน 19,477 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.6 และมีผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 7,104 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 จากไตรมาส เดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ทำงานในอาชีพงานพื้นฐานต่าง ๆ และผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิต สำหรับคนไทยในภาค ที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศจำนวน 23,007 คน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.4 โดยประเทศที่คนไทยไปทำงาน ลดลงได้แก่ ประเทศอิสราเอล สิงคโปร์ และเกาหลีใต้

10. ภาคการเงิน ณ ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เงินฝากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และ ขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากเงินฝากประจำเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากการที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ใช้กลยุทธ์ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาว โดยให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากประเภทอื่น เพื่อรักษาฐานลูกค้า ส่วนเงินฝากออมทรัพย์และ กระแสรายวันลดลง เป็นผลจากการถอนใช้ของส่วนราชการเป็นสำคัญ

ด้านสินเชื่อมียอดคงค้าง ชะลอลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ตามการชะลอการลงทุนของ ภาคธุรกิจ อีกทั้งธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งจะพิจารณาจากความ เสี่ยงของลูกค้าเป็นสำคัญ ส่งผลให้สินเชื่อในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนชะลอลง

สินเชื่อที่คาดว่าจะชะลอตัว ได้แก่ สินเชื่อเพื่อการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง สินเชื่อเพื่อธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร และสินเชื่อ เช่าซื้อรถยนต์ เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติม : นางสิรีธร จารุธัญลักษณ์ โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3432 e-mail: [email protected]


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ