สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนเมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 22, 2009 16:09 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนเมษายน หดตัว ทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ ด้านอุปทานผลผลิตพืชผลสำคัญลดลงตามผลผลิตปาล์มน้ำมัน และผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงตามการผลิตยางแปรรูป อาหารทะเลบรรจุกระป๋องและน้ำมันปาล์มที่ลดลง ขณะเดียวกันการประมงและการท่องเที่ยวลดลงต่อเนื่อง การส่งออก การลงทุนภาคเอกชนและการจ้างงานหดตัว ด้านอุปสงค์อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้ของเกษตรกรจะลดลงตามราคาพืชผลสำคัญ แต่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนกลับขยายตัว โดยดัชนีราคาผู้บริโภคลดลง

1. ภาคเกษตร ดัชนีรายได้ของเกษตรกรเดือนนี้ลดลงร้อยละ 37.7 ตามการลดลงของราคาและผลผลิตพืชผลสำคัญ โดยราคาลดลงร้อยละ 36.2 เนื่องจากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันลดลงร้อยละ 38.4 และ 31.9 ขณะที่ผลผลิตพืชผลลดลงร้อยละ 2.4 ตามการลดลงของผลผลิตปาล์มน้ำมันซึ่งลดลงร้อยละ 8.1 อย่างไรก็ตาม ผลผลิตยางพารากลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8

ประมงทะเลหดตัว โดยปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำที่นำขึ้นที่ท่าเทียบเรือขององค์การสะพานปลาในภาคใต้ลดลงร้อยละ 7.8 และ 22.1 ตามลำดับ เนื่องจากมีลมมรสุมและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ชาวประมงไม่สามารถออกทะเลได้ ส่วนผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยง ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นกุ้งขนาดเล็กที่เกษตรกรเร่งจับออกจำหน่ายเนื่องจากความกังวลว่าราคากุ้งจะอ่อนตัวลง โดยราคากุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 เป็นกิโลกรัมละ 138.0 บาท

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 8.1 จากการผลิตอุตสาหกรรมยางที่ซบเซาตามอุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่หดตัว โดยปริมาณการส่งออกยางแปรรูปหดตัวต่อเนื่อง ตามการส่งออกยางแท่งและยางแผ่นรมควัน 52,450 และ 23,814.7 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 30.6 และ 23.0 ตามลำดับ และการส่งออกอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง 10,151.2 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 0.2 เช่นเดียวกับการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ 122,636.5 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 8.4 ขณะที่การส่งออกถุงมือยางและไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 และ 8.1 เป็น 7,118.6 และ 117,380.9 เมตริกตัน ตามลำดับ

3. การท่องเที่ยว ยังคงลดลง โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ 267,468 คน ลดลงร้อยละ 1.1 ตามการลดลงของนักท่องเที่ยวในภาคใต้ตอนล่าง โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาลดลง ร้อยละ 5.8 ขณะที่การท่องเที่ยวในภาคใต้ฝั่งตะวันตกปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการส่งเสริมการขายโดยการลดราคาห้องพักหลังเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงวันสงกรานต์ ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลอีสเตอร์ของยุโรป นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคตามโครงการเช็คช่วยชาติซึ่งเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ประกอบกับผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงเอื้อให้ต้นทุนการผลิตและระดับราคาสินค้าผู้บริโภคทั่วไปลดลง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ตามดัชนีหมวดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสรรพากร ณ ราคาคงที่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ในขณะที่หมวดยานยนต์หดตัวร้อยละ 42.7

5. การลงทุนภาคเอกชน หดตัว เนื่องจากผลกระทบจากต้นทุนประกอบการที่อยู่ใน ระดับสูง ตลอดจนความเข้มงวดในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ทำให้การจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลใหม่ลดลง และการเลิกกิจการเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้าง และจำนวนเงินทุนในโครงการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ลดลง

6. การจ้างงาน ลดลงทั้งความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการซึ่งแจ้งผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัดในภาคใต้ และการบรรจุงาน จำนวน 4,698 และ 3,584 อัตรา โดยลดลงร้อยละ 19.1 และ14.3 ตามลำดับ ในขณะที่ผู้สมัครงานกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30.4 โดยมีจำนวน 7,228 คน สำหรับแรงงานที่เข้าโครงการประกันสังคม ณ สิ้นเดือนเมษายน มีจำนวน 600,983 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1

7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้ลดลงร้อยละ 0.2 จากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งทำให้ดัชนีราคาในหมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 5.6 ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงเป็นร้อยละ 7.2 ในเดือนนี้ จากร้อยละ 8.3 ในเดือนก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2

8. การค้าต่างประเทศ หดตัวต่อเนื่องทั้งในด้านการส่งออกและนำเข้า เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยมูลค่าการส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้มีจำนวนทั้งสิ้น 676.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 39.3 ตามการลดลงของการส่งออกยางแปรรูป น้ำมันปาล์ม ไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ และอาหารกระป๋อง อย่างไรก็ตามการส่งออกถุงมือยางยังขยายตัว ส่วนการนำเข้า 424.8 ล้านดอลลาร์สรอ. ลดลงร้อยละ 24.4 ตามการลดลงของสินค้านำเข้าทุกหมวด

9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในภาคใต้ลดลงร้อยละ 22.1 โดยมีจำนวน 11,445.5 ล้านบาท ตามการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของอปท. ซึ่งได้เบิกจ่ายไปแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ แต่งบประมาณปีก่อนเบิกจ่ายในเดือนเมษายน 2551 ส่วนการจัดเก็บภาษีอากร 2,448.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตซึ่งจัดเก็บได้ 336.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.9 เป็นสำคัญ ขณะที่ภาษีสรรพากรและภาษีศุลกากรจัดเก็บได้ 2,007.6 และ 104.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.8 และ 8.5 ตามลำดับ

10. การเงิน เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้มีจำนวนประมาณ 431,100.0 ล้านบาท ขยายตัวจาก ณ สิ้นเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.7 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ส่วนเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้างประมาณ 371,700 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.9 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวมเป็นสำคัญ

ข้อมูลเพิ่มเติม : นางนาฏน้อย แก้วมีจัน

โทร. 0-7423-6200 ต่อ 4329

e-mail : nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ