สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนพฤษภาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 23, 2009 17:34 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนพฤษภาคมด้าน หดตัว ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ผลผลิตพืชผลสำคัญลดลงตามผลผลิตปาล์มน้ำมัน แม้ว่าผลผลิตยางจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อุปทานขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงตามการผลิตยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน อาหารทะเลบรรจุกระป๋องและน้ำมันปาล์มดิบที่ลดลง ด้านการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ส่วนการทำประมงปรับตัวดีขึ้น ด้านอุปสงค์ การส่งออก การลงทุนภาคเอกชนและความต้องการจ้างงานหดตัว อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้ของเกษตรกรจะลดลงตามราคาพืชผลสำคัญ แต่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนกลับขยายตัวจากเครื่องชี้ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการใช้น้ำมัน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคลดลง ส่วนภาคการเงิน เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกับเดือนก่อน ส่วนสินเชื่อชะลอลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม

1. ภาคเกษตร รายได้ของเกษตรกรหดตัว ในเดือนนี้ ดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 46.3 ตามการลดลงของราคาพืชผลหลักซึ่งลดลงร้อยละ 38.5 โดยราคายางพาราลดลงร้อยละ 41.0 ส่วนปาล์มน้ำมันลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.5 ขณะที่ผลผลิตพืชผลลดลงร้อยละ 12.7 ตามการลดลงของผลผลิตปาล์มน้ำมันซึ่งลดลงร้อยละ 29.0 ส่วนผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.6

ประมงทะเลปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าผู้ประกอบการประมงจะยังคงได้รับผลกระทบจากราคาสัตว์น้ำตกต่ำและการขาดสภาพคล่อง โดยปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นท่าในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.0 ขณะที่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ส่วนผลผลิตกุ้งขาวในภาคใต้ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.9 ด้านราคาจำหน่าย แม้ว่าราคากุ้งโดยเฉลี่ยทุกขนาดจะปรับลดลง แต่กุ้งขาวขนาดใหญ่ ขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม ราคากลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เป็นกิโลกรัมละ 129.0 บาท

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 11.3 จากการผลิตยางแปรรูปที่หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ทั้งยางแท่งและยางแผ่นรมควัน เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่ซบเซา โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา โดยการส่งออกยางแท่งและยางแผ่นรมควัน มีปริมาณ 16,002.2 และ 51,823.2 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 46.5 และ 31.2 ตามลำดับ เช่นเดียวกับการส่งออกอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ยอดส่งออก 9,807.9 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 16.4 อย่างไรก็ตาม การผลิต ไม้ยางพาราแปรรูป สัตว์น้ำแช่แข็ง น้ำยางข้นและถุงมือยางยังคง เพิ่มขึ้น โดยสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 9.1 13.9 และ 6.2 ตามลำดับ ส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบลดลงร้อยละ 30.9

3. การท่องเที่ยว ยังคงหดตัว โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ 221,112 ลดลงร้อยละ 19.0 ตามการลดลงของนักท่องเที่ยสในภาคใต้ฝั่งตะวันตก และภาคใต้ตอนล่าง เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลต่อเนื่องจากเหตุการณ์การมืองในประเทศ รวมทั้งการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 และดรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา ทำให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 37.5 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 52.8

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอเชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของภาคใต้เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 1.2 โดยมีปัจจัยบวกจากระดับราคาสินค้าที่ลดลงต่อเนื่อง ตามต้นทุนที่ลดลงจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับลดลง และเครื่องชี้ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสรรพากร ณ ราคาคงที่ ปี 2543 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 และการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ขณะที่เครื่องชี้ในหมดวินค้าคงทนยังคงหดตัวตามยอดจดทะเบียนรถทุกประเภท

5. การลงทุนภาคเอกชน ยังคงหดตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบการและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ตลอดจนสถาบันการเงินยังขาดความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ดัชนีการลงทุนก่อสร้างลดลงร้อยละ 2.7 โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใจเขตเทศบาลลดลงร้อยละ 47.0 ขณะที่การจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลใหม่ลดลงทั้งจำนวนรายและเงินทุนจดทะเบียน ส่วนการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีเพียง 2 ราย

6. การจ้างงาน ความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการซึ่งแจ้งผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัดในภาคใต้ มีตำแหน่งงานว่างลดลงร้อยละ 8.4 อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้มาสมัครงานยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.9 และการบรรจุงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8

7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 2.7 จากร้อยละ 0.2 ในเดือนก่อน ตามการลดลงของดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ในหมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร และหมวดเคหสถาน เป็นสำคัญ เป็นผลจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาล ทำให้ภาระรายจ่ายของประชาชนในด้านการศึกษา และเครื่องแบบนักเรียน ลดลงมาก รวมถึงการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าไฟฟ้า และ ค่าน้ำประปา ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานใกล้เคียงกับเดือนเดียวกันปีก่อน

8. การค้าต่างประเทศ มูลค่าการค้าลดลง จากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 1,172 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 26.1 จากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 34.3 โดยมีมูลค่าการส่งออก 737.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 34.4 ตามมูลค่าการส่งออกยางพาราซึ่งลดลงร้อยละ 48.7 เป็นสำคัญ ส่วนมูลค่าการนำเข้า 435.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 5.8

9. ภาคการคลัง จากนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในภาคใต้ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 53.3 จากเดือนเดียวกันปีก่อน โดยมียอดรวม 13,492.5 ล้านบาท ส่วนการจัดเก็บภาษีอากร 3,507.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.7 ตามการลดลงของการจัดเก็บภาษีสรรพากรเกือบทุกประเภท ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการลดภาษีธุรกิจเฉพาะจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกระตุ้นการลงทุน ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่เดือน มีนาคม 2551 และสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2552 แต่กระทรวงการคลังออกประกาศขยายเวลามาตรการดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 52 ทำให้ครึ่งแรกของเดือนพฤภษภาคม 2552 จึงยังคงจัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 3.3

10. การเงิน เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ขยายตัวจาก ณ สิ้นเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.1 ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ส่วนสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 3.2 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม เป็นสำคัญ

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม : นาฏน้อย แก้วมีขัน

โทร. 0-7423-6200 ต่อ 4329

e-mail : nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ