สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 2/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 31, 2009 15:31 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่สอง ปี 2552 หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนแต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เป็นสำคัญ

ภาคเกษตรกรรม ดัชนีรายได้เกษตรกรหดตัว ตามการลดลงของดัชนีราคา โดยเฉพาะราคาหัวมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าว ส่วนดัชนีผลผลิตทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อนและปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรก โดยอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวดี ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และอุตสาหกรรมน้ำตาล สำหรับอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัวแต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จาก คำสั่งซื้อที่มีอย่างต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลังจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในต่างประเทศ

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามการใช้จ่ายของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากประชาชนมีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจมากขึ้น ประกอบกับผลจากมาตรการของรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และผลจากโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น การลงทุนภาคเอกชนหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน รายได้ของภาครัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การเบิกจ่ายงบประมาณมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สำหรับการค้าชายแดนลดลงทั้งการค้าชายแดนไทย - ลาว และไทย - กัมพูชา

ภาคการเงิน ขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะเงินฝากออมทรัพย์เร่งตัวขึ้น ด้านเงินให้สินเชื่อชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนของภาคธุรกิจ ประกอบกับธนาคารพาณิชย์เข้มงวด ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบร้อยละ 2.9 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ลดลงและสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มชะลอลงเป็นสำคัญ

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. ภาคเกษตรกรรม ดัชนีรายได้เกษตรกรในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 18.2 เนื่องจากดัชนีราคาลดลงร้อยละ 18.5 ตามราคาหัวมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวลดลง ส่วนดัชนีผลผลิตทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ข้าว ราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยไตรมาสนี้เกวียนละ 13,914 บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.2 เนื่องจากมีการส่งออกข้าวมากเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับประเทศเวียดนามและอินเดียมีผลผลิตข้าวลดลง จึงประกาศห้ามส่งออกข้าวเพื่อสงวนไว้บริโภคในประเทศ แต่ในปีนี้ผลผลิตของประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาข้าวของประเทศเวียดนามที่ถูกกว่าทำให้การส่งออกของไทยลดลงจากปีก่อน ราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยไตรมาสนี้เกวียนละ 7,257 บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.8

สำหรับโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2552 เป้าหมายรับจำนำ 6 ล้านตัน ระยะเวลา 16 มี.ค. 31 ก.ค. 2552 ราคา รับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 10,800 12,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียว 9,000 บาทต่อตัน ผลการรับจำนำของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 163,864 ตัน เป็นข้าวเจ้า 154,739 ตัน ข้าวเหนียว 9,125 ตัน

มันสำปะหลัง ราคาขายส่งหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยไตรมาสนี้กิโลกรัมละ 1.13 บาท และมันเส้นราคาขายส่งเฉลี่ยไตรมาสนี้กิโลกรัมละ 3.07 บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 45.7 และร้อยละ 37.9 ตามลำดับ เป็นผลจากการหดตัวของอุปสงค์ของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในแถบสหภาพยุโรป เนื่องจากมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเพราะดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม ราคามันสำปะหลังยังไม่ลดลงมากนักเนื่องจากประเทศจีนมีความต้องการมันเส้นและแป้งมันสำหรับอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์และโรงงานกระดาษ

สำหรับโครงการรับจำนำมันสำปะหลังปีการเพาะปลูก 2551/52 เป้าหมาย 13 ล้านตัน ระยะเวลา 1 พ.ย. 2551 16 พ.ค. 2552 ราคารับจำนำระหว่าง 1.80 2.05 บาท (เพิ่มขึ้นเดือนละ 0.05 บาท) มีปริมาณหัวมันสำปะหลังที่รับจำนำ 11.7 ล้านตัน เป็นการรับจำนำของโรงแป้งจำนวน 3.6 ล้านตัน ลานมันจำนวน 8.1 ล้านตัน จังหวัดที่จำนำมันสำปะหลังมากที่สุดคือจังหวัดนครราชสีมา รองลงมาคือจังหวัดชัยภูมิ

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยไตรมาสนี้กิโลกรัมละ 6.77 บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อนร้อยละ 22.6 ตามความต้องการของโรงงานอาหารสัตว์ที่ชะลอตัว

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.6 ปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับดัชนีในไตรมาสแรกที่ติดลบร้อยละ 4.0 โดยอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวดี ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาลจากการเพิ่มสต็อกสำหรับส่งออกตามราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ตามการบริโภคภายในประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัวแต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จาก คำสั่งซื้อที่มีอย่างต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลังจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในต่างประเทศ

3.ภาคบริการ การท่องเที่ยวในภาคชะลอตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 44.1 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักร้อยละ 46.5 จากสถานการณ์ทางการเมืองและการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและโรงแรมได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยที่ชะลอการเดินทางท่องเที่ยว

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามการใช้จ่ายของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากประชาชนมีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจมากขึ้น ประกอบกับผลจากมาตรการของรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และผลจากโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.8 และปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน และปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประชาชนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.5 ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 7.3 แต่ชะลอลงจากไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคล ยังคงลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา

5. การลงทุนภาคเอกชน หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ ทางเศรษฐกิจ แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญหดตัวน้อยลง โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนครมีจำนวน 452.5 พันตารางเมตร และทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ จำนวน 1,555.1 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.5 และร้อยละ 1.9 หดตัวน้อยลงเทียบกับไตรมาสก่อนที่ลดลงถึงร้อยละ 20.8 และ 30.7 ตามลำดับ สำหรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรมยังคงเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.5 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1,938.4 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 25.4

6. ภาคการคลัง จัดเก็บภาษีอากรได้ 11,551.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ รายได้ของภาคระฐบาลปีก่อนร้อยละ 5.9 และขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาษีสรรพากรและอากรขาเข้ายังหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน สำหรับรายละเอียดมีดังนี้

ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บได้ 5,112.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวเพิ่มขึ้น จากไตรมาสก่อน ตามการจัดเก็บภาษีสุราและเบียร์เป็นสำคัญ เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เร่งผลิตเพื่อสต็อกสินค้าก่อนมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ภาษีเครื่องดื่มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษีจากโซดา

ภาษีสรรพากร จัดเก็บได้ 6,386.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19.5 หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามการลดลงของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการออกมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือนลดลง ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลก็ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาคเอกชนยื่นชำระภาษีจากกำไรสุทธิรอบสิ้นปี 2551 ลดลง ประกอบกับในไตรมาสที่สองของปีก่อนมีธุรกิจรายใหญ่แห่งหนึ่งยื่นชำระภาษีกำไรจากการขายที่ดินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ฐานปีก่อนสูง สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากภาคธุรกิจมียอดการผลิตและการจำหน่ายที่ลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะธุรกิจผลิตแป้งมัน ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ และธุรกิจนำเข้าสินค้า

ภาษีอากรขาเข้า จัดเก็บได้ 52.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24.5 หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามการลดลงของอากรขาเข้าในด่านศุลกากรมุกดาหาร ตามการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป และด่านศุลกากรหนองคาย ตามการนำเข้ายานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่ด่านที่มีการจัดเก็บอากรขาเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ด่านศุลกากรท่าลี่ตามการนำเข้าข้าวโพด ด่านศุลกากรนครพนม และด่านศุลกากรพิบูลมังสาหาร ตามการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป

การเบิกจ่ายงบประมาณ มีการเบิกจ่ายงบประมาณ 68,475.7 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.1 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 16.5 เนื่องจากส่วนราชการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณในไตรมาสก่อนล่าช้าตาม พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2552 อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคมกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับเงินอุดหนุนทั่วไปจากส่วนกลางเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ มีการเบิกจ่ายเร่งตัวขึ้น ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายหมวดเงินเดือน หมวดเงินอุดหนุนทั่วไป หมวดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 42,307.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 ในขณะที่รายจ่ายลงทุน 26,168.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.8

7. การค้าต่างประเทศ มีมูลค่าการค้า 17,109.8 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.6 การค้าชายแดนไทย - ลาวโดยเป็นการลดลงทั้งมูลค่าการส่งออกและการนำเข้า อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้ายังขยายตัวจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 3.9 ซึ่งมีมูลค่าการค้า 16,468.5 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มีมูลค่า 13,370.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว ร้อยละ 3.3 จากไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่า 12,938.3 ล้านบาท โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และน้ำมันปิโตรเลียม สำหรับวัสดุก่อสร้างและเหล็กมูลค่าลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตามผลของราคาที่ลดลง ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการที่ สปป. ลาว สามารถผลิตเหล็ก และปูนซีเมนต์จำหน่ายได้เองภายในประเทศ นอกจากนี้ เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่นำไปใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เหมืองแร่ และโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงวัตถุดิบประเภทเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างก็มีมูลค่าการส่งออกลดลง

สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือนประเภทเครื่องดื่มบำรุงกำลัง นม น้ำผลไม้ และผลไม้สดตามฤดูกาล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ส่วนหนึ่งส่งไปขายต่อยังประเทศเวียดนามซึ่งยังคงนิยมสินค้าของไทย แม้จะมีโรงงานผลิตเองในประเทศก็ตาม รวมถึงการส่งออกปศุสัตว์โดยเฉพาะกระบือไปยังเวียดนามเพื่อใช้ในภาคการเกษตรทดแทนการใช้รถไถในภาวะที่ราคาน้ำมันสูง นอกจากนี้ การส่งออกวัตถุดิบประเภทผ้าและอุปกรณ์ ตัดเย็บเสื้อผ้าและรองเท้าก็ยังคงมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น

การนำเข้า มีมูลค่า 3,739.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่า 3,530.2 ล้านบาท โดยการนำเข้าสินค้าสำคัญที่ลดลง ได้แก่ แร่ทองแดง และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากประเทศจีน ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบซึ่งส่วนหนึ่งลดลงเนื่องจากการเสร็จสิ้นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และรถยนต์นั่งพวงมาลัยซ้ายที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับสินค้าสำคัญที่นำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกษตรโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากแขวงไชยะบูลีผ่านด่านศุลกากรท่าลี่ เนื่องจากการขยายพื้นที่เกษตรกรรมในแขวงไชยะบูลีซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ของ สปป. ลาว และ การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรใน สปป. ลาว มากขึ้น ส่งผลให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น และการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เนื่องจากการนำกลับเครื่องจักรที่เสร็จสิ้นจากโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2 เป็นสำคัญ

การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มีมูลค่าการค้า 10,994.1 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.7 โดยเป็นการลดลงของมูลค่าการส่งออกและการนำเข้า แต่ยังขยายตัวจากไตรมาสแรกร้อยละ 1.7 ซึ่งมีมูลค่าการค้า 10,809.1 ล้านบาท ตามรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มีมูลค่า 10,500.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว ร้อยละ 1.8 จากไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่า 10,313.4 ล้านบาท โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบโดยเฉพาะรถยนต์พวงมาลัยซ้าย เนื่องจากมีการจัดตั้งตัวแทนจำหน่ายในประเทศ รวมถึงประชาชนมีรายได้จากการขายที่ดินจึงหันไปนิยมใช้รถราคาสูงมากขึ้น วัสดุก่อสร้างซึ่งได้รับผลกระทบจากการตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการนำเข้าวัสดุก่อสร้างจากเวียดนามโดยเฉพาะในจังหวัดที่มีชายแดนติดเวียดนาม น้ำมันปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงลดลงจากการที่ทางการกัมพูชาอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะสำหรับใช้ในจังหวัดติดชายแดนเท่านั้น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ซึ่งประชาชนหันไปนิยมสินค้าจากเวียดนามที่มีราคาถูกกว่า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์และวิสกี้ที่กัมพูชาหันไปนำเข้าจากประเทศสิงคโปร์แทน รวมถึงประชาชนนิยมบริโภคเบียร์ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศมากขึ้น ส่วนสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัตถุดิบประเภทเคมีภัณฑ์ และสิ่งทอ อย่างไรก็ดี สินค้าสำคัญบางประเภทยังคงส่งออกได้เพิ่มขึ้น คือ น้ำตาล เครื่องดื่มประเภทบำรุงร่างกายและน้ำอัดลม และผงชูรส ขณะที่การส่งออกสัตว์มีชีวิต คือ สุกรและโคได้เพิ่มขึ้นกว่าหลายเท่าตัวเพื่อ ส่งต่อไปยังประเทศเวียดนาม

การนำเข้า มีมูลค่า 493.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 32.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และยังคงหดตัว ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการลดลงของการนำเข้าเศษวัสดุใช้แล้ว ซึ่งประกอบด้วยเศษกระดาษ เศษเหล็ก เศษทองแดงและเศษอลูมิเนียม ขณะที่เสื้อผ้า-ผ้าห่มเก่านำเข้าลดลงเนื่องจากมีความวิตกกังวลจากการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 อย่างไรก็ตาม การนำเข้าพืชไร่โดยเฉพาะมันสำปะหลังยังคงเพิ่มขึ้น

8. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.9 และลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 0.8 เป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 9.2 ส่วนราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 13.4

หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ 15.0 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 25.2 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนาลดลงร้อยละ 9.7 จากการลดลงของหนังสือและอุปกรณ์การศึกษาร้อยละ 65.1 หมวดเคหสถานลดลงร้อยละ 7.2 จากค่าไฟฟ้าและน้ำประปาที่ลดลงร้อยละ 35.4 และ 46.2 ตามลำดับ จากมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชน

หมวดอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ ผักและผลไม้ร้อยละ 13.3 ผลิตภัณฑ์น้ำตาลร้อยละ 9.0 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ 7.4 และอาหารสำเร็จรูปร้อยละ 6.3

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.3 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1

9. ภาคการจ้างงาน ด้านภาวะการจ้างงาน มีผู้สมัครงาน 43,613 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 81.8 มีตำแหน่งงานว่าง 13,216 อัตรา เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.3 และมีผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 13,090 คน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 55.7 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการจัดตลาดนัดแรงงานซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก สำหรับคนไทย ในภาคที่ขออนุญาตไปทำงานยังต่างประเทศจำนวน 26,886 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.5 ส่วนใหญ่ไปทำงานในประเทศไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สวีเดน ลิเบีย และกาตาร์

10. ภาคการเงิน เงินฝากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะเงินฝากออมทรัพย์ที่ ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการนำฝากของส่วนราชการเพื่อรอการใช้จ่ายตามงบประมาณ ประกอบกับลูกค้าบางส่วนถอนเงินฝากประจำมาฝากไว้เพื่อรอการลงทุนในแหล่งอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้เงินฝากประจำลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน

เงินให้สินเชื่อ ชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนของภาคธุรกิจ ประกอบกับธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ โดยส่วนใหญ่ปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะพนักงานหน่วยงานราชการ อีกทั้งมีการชำระหนี้ตามตั๋วที่ครบกำหนดของลูกค้ากลุ่มธุรกิจโรงสี โรงงานน้ำตาล และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นสำคัญ

สำหรับเงินให้สินเชื่อที่หดตัวได้แก่ สินเชื่อเพื่อการผลิต สินเชื่อเพื่อการค้าปลีกค้าส่ง สินเชื่อเพื่อการก่อสร้าง และ สินเชื่อเพื่อธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร เป็นต้น ส่วนสินเชื่อที่ชะลอตัว ได้แก่ สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค และสินเชื่อตัวกลางทางการเงิน เป็นต้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา

โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3411 e-mail: [email protected]

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ