เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 2, 2009 15:41 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนตุลาคม 2552 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง สอดคล้องกับภาคบริการที่มีทิศทางดีขึ้นเนื่องจากใกล้เข้าฤดูกาลท่องเที่ยว ภาคการค้ายังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้จะชะลอตัวจากเดือนก่อน ขณะที่การส่งออกขยายตัวเป็นเดือนแรกในรอบ 1 ปี การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนรายได้เกษตรกรปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงตามการชะลอตัวของการแปรรูปผลผลิตเกษตรและการผลิตเซรามิกเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ลดลง การใช้จ่ายภาครัฐลดลงเล็กน้อย ระดับราคาเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกนับจากลดลง 6 เดือนที่ผ่านมา สำหรับเงินให้สินเชื่อปรับตัวดีขึ้น ขณะที่เงินฝากขยายตัว

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. ภาคเกษตร รายได้เกษตรกรจากการจำหน่ายพืชผลสำคัญแม้จะหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.8 แต่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับจากเดือนกรกฎาคม 2552 เป็นผลจากราคาที่หดตัวน้อยลงที่ร้อยละ 16.1 เทียบกับลดลงร้อยละ 21.5 เดือนก่อน จากราคาข้าวเปลือกเจ้านาปีที่ลดลงร้อยละ 21.6 ตามการลดลงของราคาในตลาดโลก ประกอบกับส่งออกได้น้อยกว่าปีก่อนมาก ขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงร้อยละ 21.2 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ส่วนถั่วเหลืองลดลงร้อยละ 20.7 ทางด้านดัชนีผลผลิตพืชผลหลักเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.5 ชะลอลงตามผลผลิตข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และร้อยละ 3.5 ตามลำดับ เนื่องจากราคาปีก่อนอยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิต อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำฝนที่ลดลงส่งผลกระทบต่อผลผลิตในพื้นที่เพาะปลูกสำคัญของภาคเหนือทำให้ผลผลิตไม่สูงเช่นปีก่อน สำหรับถั่วเหลืองผลผลิตเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.2

2. ภาคอุตสาหกรรม การผลิตชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนโดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.3 และหดตัวร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ตามการชะลอลงของอุตสาหกรรมผลิตอาหารที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 เทียบกับร้อยละ 85.5 เดือนก่อน ทั้งลำไยอบแห้ง และการผลิตผักสดแช่แข็งและอบแห้งที่ลดลงเนื่องจากลูกค้าชะลอการรับมอบสินค้า ประกอบกับการผลิตเซรามิกประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเพื่อส่งออกลดลงกว่าร้อยละ 41.6 ในตลาดสำคัญทั้ง อังกฤษ สวีเดน และสหรัฐอเมริกา ส่วนการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังคงลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อน ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใหม่ เช่น Touchpad สำหรับจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเครื่องรับสัญญาณ GPS ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้านการผลิตเครื่องดื่มกลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรกนับแต่ลดลงตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 เพื่อชดเชยสต็อกที่ลดลงมากในช่วงที่ผ่านมา และเพื่อเตรียมจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่

3. ภาคบริการ มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากเข้าสู่ช่วง HIGH SEASON ของภาคเหนือ นักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศเริ่มกลับมาท่องเที่ยวประกอบกับไม่มีปัญหาทางการเมืองรุนแรงเช่นเดียวกับปลายปี 2551 โดยจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ18.6 แต่ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ด้านการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารปรับตัวดีขึ้นโดยลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.1 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 16.5 เดือนก่อน โดยเฉพาะในจังหวัดภาคเหนือตอนล่างที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 สำหรับอัตราการเข้าพักของโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 41.3 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 42.6 ปีก่อน ด้านราคาห้องพักเฉลี่ยอยู่ที่ 813.7 บาท/คืนลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.5 ตามการแข่งขันกันโดยใช้กลยุทธ์ด้านราคา

4. ภาคการค้า เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนแต่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีภาคการค้าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.8 จากการค้าหมวดยานยนต์ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 แต่ชะลอตัวจากเดือนก่อน ขณะที่ยอดจำหน่ายเชื้อเพลิงยานยนต์ขยายตัวเป็นเดือนแรกนับแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 การค้าหมวดค้าส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ขยายตัวในทุกหมวดยกเว้นการขายส่งอาหาร และเครื่องดื่ม สำหรับการค้าหมวดค้าปลีกที่สะท้อนความต้องการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.5 ขยายตัวในทุกหมวด

5. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนภาคเหนือ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.2 อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เป็นผลจากปริมาณการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงเหลือร้อยละ 1.9 โดยเฉพาะในหมวดอุตสาหกรรมที่หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่วนหมวดก่อสร้างปริมาณการจัดเก็บยังคงขยายตัวส่วนหนึ่งตามการเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐบาลก่อนสิ้นปีงบประมาณ ด้านการบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนจากปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 0.3 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ในขณะที่รถยนต์เชิงพาณิชย์เริ่มฟื้นตัว ด้านปริมาณการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 3.0 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากการมีสินค้ารุ่นใหม่และกลยุทธ์การตลาด

6. การลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามภาคก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนภาคเหนือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 โดยปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลขยายตัวร้อยละ 55.7 และร้อยละ 7.0 ตามลำดับ ขยายตัวดีจากการก่อสร้างทั้งภาคชาวบ้านและภาครัฐ เช่น ถนน สะพาน ด้านพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างขยายตัวดีในประเภทที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินขยายตัวร้อยละ 10.6 สำหรับความสนใจลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งสะท้อนจากการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือหดตัวร้อยละ 78.5 เงินลงทุน 560.7 ล้านบาท เป็นการลงทุนในหมวดบริการและสาธารณูปโภค และอุตสาหกรรมเบา เป็นสำคัญ

7. การค้าต่างประเทศ ขยายตัว โดยการส่งออกขยายตัวเป็นเดือนแรกในรอบ 1 ปี โดยเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.9 เป็น 248.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการส่งออกสินค้าเกษตรที่ขยายตัวร้อยละ 30.5 ในสินค้าสำคัญ เช่น ใบยาสูบและข้าวโพด ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงลดลงร้อยละ 7.1 แต่ปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอัญมณีที่เพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกนับแต่วิกฤตเศรษฐกิจ ด้านการส่งออกสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกันจากการส่งออกไปจีนที่ขยายตัวดี การส่งออกผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 31.3 เป็น 104.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขยายตัวดีในตลาดพม่าและลาวที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.2 และร้อยละ 28.0 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปจีนตอนใต้หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนร้อยละ 27.4

การนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือยังคงหดตัวร้อยละ 18.4 เหลือ 104.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการนำเข้าสินค้าหลายชนิดที่ยังคงลดลง โดยการนำเข้าสินค้าทุนลดลงร้อยละ 36.8 หดตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 20.8 เดือนก่อน เนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อนมีการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องจักรไฟฟ้ามูลค่าสูง ด้านการนำเข้าวัตถุดิบลดลงร้อยละ 14.2 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเพชรดิบเพื่อเจียระไน ด้านการนำเข้าผ่านด่านชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เป็น 11.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการนำเข้าจากลาวและจีนตอนใต้ที่ขยายตัวดีร้อยละ 42.3 และร้อยละ 34.8 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากพม่ายังคงลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 48.9

ดุลการค้า ในเดือนตุลาคม 2552 เกินดุล 143.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อนที่เกินดุล 102.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 94.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ

8. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือ มีการเบิกจ่ายลดลง ส่วนหนึ่งจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2553 ล่าช้า โดยในเดือนตุลาคม 2552 มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้นจำนวน 7,157.0 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.9 ลดลงมากในเงินอุดหนุนทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในส่วนที่เป็นงบประจำ โดยลดลงร้อยละ 16.2 ส่วนรายจ่ายงบลงทุนมีจำนวน 781.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9 ตามการเบิกจ่ายของหมวดที่ดิน/สิ่งปลูกสร้างและเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เป็นสำคัญ

9. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคเหนือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากลดลงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เป็นผลจากราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ตามราคาผัก และผลไม้ จากเทศกาลกินเจ กอปรกับผลผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ส่วนราคาในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ1.6 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามราคาในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารที่หดตัวน้อยลงอย่างต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่เพิ่มขึ้น แต่ราคาในหมวดการศึกษายังคงลดลง จากผลของมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.3

10. การจ้างงาน จากข้อมูลการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 มีกำลังแรงงานในภาคเหนือรวม 7.3 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 7.2 ล้านคน การจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ตามการขยายตัวของการจ้างงานในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ ขยายตัวมากในสาขาการค้าส่ง/ปลีก การผลิต และโรงแรม/ภัตตาคาร ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 ร้อยละ 6.3 และร้อยละ 13.6 ตามลำดับ ตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของสาขาดังกล่าว สำหรับผู้ว่างงานมีจำนวน 0.1 ล้านคน เท่ากับร้อยละ 1.2 ทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ด้านอัตราการทำงานต่ำกว่าระดับ สูงกว่าร้อยละ 1.5 ระยะเดียวกันปีก่อนเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 1.7 สถานการณ์การเลิกจ้างเริ่มคลี่คลายลง สะท้อนจากผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 มีจำนวน 16,154 คน ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 ขณะที่ด้านผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มีจำนวน 600,130 คน ขยายตัวร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีจำนวน 95,676 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.0 และร้อยละ 37.2 ตามลำดับ

11. การเงิน ยอดคงค้างเงินฝากที่สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 381,651 ล้านบาท ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.5 แต่ชะลอตัวจากร้อยละ 7.1 เดือนก่อน ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ายอดคงค้างเงินฝากลดลง 2,186 ล้านบาท จากการถอนเงินฝากของส่วนราชการและสถานศึกษาเพื่อนำไปใช้ในโครงการต่าง ๆ และลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ ลดลงมากที่จังหวัดเพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และกำแพงเพชร ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 298,184 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 1.4 ตามการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภาคเหนือตอนล่างประเภทธุรกิจโรงสีข้าวและค้าพืชไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากในจังหวัดนครสวรรค์และกำแพงเพชร สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 78.1 ลดลงจากร้อยละ 83.4 ระยะเดียวกันของปีก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณนุกุล มุกลีมาศ โทร 0 5393 1142 E-mail: Nukulm@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ