เรื่องของบัตรเครดิต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 25, 2009 14:35 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม

ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ช่วงนี้ใกล้เทศกาลปีใหม่ ผู้อ่านบางท่านก็อาจเตรียมการจับจ่ายหาซื้อของขวัญให้ญาติมิตร หรือวางแผนเดินทางท่องเที่ยวเพื่อให้รางวัลกับตัวเองที่ทำงานหนักมาทั้งปี ซึ่งก็คงมีผลให้มีการใช้บัตรเครดิตในการจับจ่ายต่าง ๆ กันเยอะเพราะความสะดวก ในโอกาสนี้ผมจึงอยากจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิต นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมทั่ว ๆ ไป ให้รับทราบนะครับ

เรื่องแรก คือ การใช้บัตรเครดิตใช้จ่ายในต่างประเทศนั้น หลาย ๆ ท่านอาจไม่ตระหนักว่ามีค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตคิดกับผู้ถือบัตรนะครับ ยกตัวอย่างเช่น หากท่านจ่ายโดยใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศเป็นเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ สมมติว่าอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ร้านค้าเรียกเก็บเป็นอัตรา 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ธนาคารผู้ออกบัตรเครดิตในไทยก็จะบวกเพิ่มอีก 2 - 2.5% จากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวนี้ จึงเท่ากับว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่ท่านจ่าย คือ 34.68 - 34.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าธรรมเนียม 2 - 2.5% นี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ทางบริษัท MasterCard / VISA เรียกเก็บ 1% และอีกส่วนเป็นของธนาคารผู้ออกบัตรเครดิตเรียกเก็บอีก 1 - 1.5% (แล้วแต่ธนาคาร) ซึ่งโครงสร้างค่าธรรมเนียมในเรื่องนี้เป็นแนวปฏิบัติที่เหมือนกันทั่วโลก กล่าวคือ ไม่ว่าธนาคารผู้ออกบัตรและผู้ถือบัตรเป็นชาติใดก็ตาม ทางบริษัท MasterCard / VISA ก็คิดค่าธรรมเนียม 1% เหมือนกันทั่วโลก ส่วนอีก 1 - 1.5% นั้น แล้วแต่ธนาคารหรือผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตจะคิด เท่าที่ผมทราบค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยน 2 ส่วนรวมกันนี้ ธนาคารผู้ออกบัตรในบางประเทศ เช่น เกาหลี ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ คิดสูงถึง 3% ก็มี เหตุผลที่มีการคิดค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ก็เพื่อชดเชยการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารผู้ออกบัตร อย่างไรก็ตาม แม้มีค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนนี้ผู้ถือบัตรเครดิตก็อาจเห็นว่าเป็นการซื้อความสะดวกสบาย ไม่ต้องหาซื้อเงินตราต่างประเทศก่อนเดินทาง ไม่ต้องพกเงินสดให้เป็นความเสี่ยงและมีภาระ แต่ก็มีผู้อ่านบางท่านเห็นว่าซื้อเงินตราต่างประเทศและพกเงินสดประหยัดกว่า ผมจึงอยากขอเล่าให้ฟังเป็นข้อมูลให้รับทราบไว้ เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจ และนอกจากนี้ผู้ถือบัตรก็สามารถเลือกใช้บริการบัตรเครดิตจากธนาคารที่คิดค่าธรรมเนียมต่ำ ๆ ก็ได้

เรื่องที่สอง คือ การใช้บัตรเครดิตกดเงินสดจากตู้ ATM ในต่างประเทศ ก็จะมีค่าธรรมเนียม 2 ส่วน คือ ค่ากดเงินจากตู้ ATM ซึ่งธนาคารเจ้าของตู้ในต่างประเทศบางแห่งก็จะคิดค่าธรรมเนียมการใช้ตู้ ATM ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมมีหลากหลายและเป็นการคิดค่าธรรมเนียมต่อครั้งการใช้ตู้ ATM และค่าธรรมเนียมการเบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิตประมาณ 3% ของจำนวนเงินที่กด นอกจากนี้ก็มีดอกเบี้ยที่คำนวณทันทีที่กดเงินสด ซึ่งเหมือนกับสินเชื่อผ่านบัตรเครดิตทั่วไปนั่นเอง การใช้บัตรเครดิตเบิกเงินจากตู้ ATM ในลักษณะนี้ คิดว่าคงมีน้อย เพราะบัตร ATM / บัตรเดบิตของธนาคารไทยเราก็สามารถเบิกเงินฉุกเฉินจากตู้ ATM ในต่างประเทศได้เช่นเดียวกัน โดยเป็นการเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ถือบัตรเอง จึงมีแต่ค่าธรรมเนียมเฉพาะค่ากดตู้ ATM

ไหน ๆ ก็พูดเรื่องบัตรเครดิตแล้ว ขอแถมอีกเรื่อง คือ ระยะหลัง ๆ มีกลุ่มมิจฉาชีพจำนวนมากฉวยโอกาสพยายามปลอมแปลงบัตรเครดิต โดยใช้วิธีโทรศัพท์ติดต่อผู้ถือบัตรเครดิต และอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และพยายามเร่งรัดทวงเงินค้างชำระบัตรเครดิต และพยายามสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล เช่น บัตรประชาชน / ที่อยู่ / วันเดือนปีเกิด ในการโทรศัพท์ติดต่อนี้กลุ่มมิจฉาชีพเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ตัวเองโดยให้หมายเลขโทรศัพท์ของ ธปท. ด้วย เพื่อให้ผู้ถือบัตรโทรศัพท์เช็กสอบกลับมา ธปท. ได้ ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของ ธปท. จริง เพราะเป็นหมายเลขที่เปิดเผยใน website อยู่แล้ว ผมขอเรียนเน้นตรงนี้ว่า ธปท. ไม่เคยมีหน่วยงานที่มีหน้าที่โทร.ถึงผู้ถือบัตรเครดิต เพื่อทำการทวงเงิน หรือสอบถามข้อมูลส่วนตัวใด ๆ และหากท่านผู้อ่านเจอกรณีนี้โปรดอย่าหลงเชื่อนะครับ และขอให้แจ้งมาที่ ธปท. (เช่น ศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อ ที่เบอร์โทร. 0- 2283- 5900) จะได้ช่วยกันป้องกันการทุจริตในเรื่องนี้

เรื่องของบัตรเครดิตนี้ ถ้าผู้ถือบัตรมีวินัยในการใช้จ่ายและระลึกตลอดเวลาว่ามันคือสิ่งอำนวยความสะดวกในการจ่ายเงินแทนการพกพาเงินสด ซึ่งก็แปลว่ามีเงินสดอยู่ในการครอบครองอยู่แล้ว ก็จะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการใช้บัตรที่มาพร้อมกับ package การส่งเสริมการขาย เช่น ส่วนลดต่าง ๆ และรวมถึงช่วงเวลาที่ยังไม่ต้องจ่ายเงินถึง 45 วันด้วย ในมุมมองของผู้ดูแลระบบการชำระเงิน บัตรพลาสติกนี้ช่วยเป็นเครื่องมือที่ดีในระบบการชำระเงิน ลดการใช้ธนบัตรและเช็ค ในส่วนของเจ้าของร้านค้านั้น แม้ต้องเสียค่าใช้จ่ายอยู่บ้างก็ได้ประโยชน์เยอะจากการรับชำระด้วยบัตรเครดิต ช่วยให้การขายเป็นไปได้ง่ายขึ้น เพราะหลาย ๆ คนตัดสินใจซื้อแม้ว่าไม่มีเงินสดติดตัวอยู่ขณะนั้น ส่วนผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตนั้น ก็ได้ประโยชน์จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากร้านค้าประมาณ 1.5 - 3% ของยอดซื้อ ดังนั้นโดยรวม ๆ แล้วทุกฝ่ายล้วนได้ประโยชน์จากบัตรพลาสติกนี้ แต่ต้องมาจากพื้นฐานจุดเริ่มต้นของการจับจ่ายอย่างพอดีและมีวินัย

ผมก็คงจะขอเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับเรื่องของการใช้บัตรเครดิตเท่านี้ครับ เพราะคิดว่าช่วงนี้คงมีการใช้บัตรเครดิตเยอะตามอารมณ์ของเทศกาล เรื่องของการใช้เงินนี้ หลาย ๆ ท่านก็คงยึดถือคติอยู่แล้วนะครับว่า "มีน้อยใช้น้อย" แต่ผมขอเพิ่มต่ออีกว่า "ใช้น้อย มีไม่น้อย" ซึ่งความหมายของผม คือ ถ้าเราใช้น้อย ๆ ตอนนี้ ในอนาคตเราจะมีเงินเหลือเก็บไม่น้อยครับ สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าครับ--จบ—

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 24 - 26 ธันวาคม 2552

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ