แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤศจิกายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2009 17:23 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวดีขึ้นหลังจากชะลอลงเล็กน้อยในเดือนก่อน ตามการขยายตัวของอุปสงค์รวมซึ่งขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน ส่วนการส่งออกแผ่วลงบ้างเมื่อเทียบกับที่ส่งออกได้ในเดือนก่อนแต่ยังขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวและอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกแต่การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ การส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่นยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า แผ่วลงบ้างหลังจากขยายตัวในระดับสูงมาหลายเดือน สินค้าเกษตรและน้ำตาลส่งออกได้สูงขึ้นทั้งด้านปริมาณและราคา การเบิกจ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้นหลังจาก พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีผ่านสภาแล้ว การท่องเที่ยวและการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2552 มีดังนี้

อุปสงค์โดยรวมขยายตัวดี การบริโภคภาคเอกชน กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากที่ชะลอลงในเดือนก่อน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) ขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยการใช้จ่ายในด้านรถยนต์เพิ่มขึ้น ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 การบริโภคภาคเอกชนปรับที่ตัวดีขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่อยู่ในเกณฑ์ดีจากราคาพืชผลที่สูงขึ้น การว่างงานที่ลดลงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน

การลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต และการลงทุนส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนเพื่อทดแทนการเสื่อมสภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์ อีกทั้ง ยังคงมีความเปราะบาง สะท้อนจากการปรับลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนนี้ และความกังวลต่างๆ ของนักธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ปัญหาการเมืองในประเทศ และปัญหากรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ภาคการคลัง กลับมาเป็นปัจจัยสนับสนุนและมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2552 ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยรัฐบาลเปลี่ยนจากเกินดุลเงินสด 6.8 พันล้านบาทในเดือนก่อนเป็นขาดดุลเงินสด 79.0 พันล้านบาท

การส่งออกมีมูลค่า 13,726 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 17.3 จากระยะเดียวกันปีก่อนส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานที่ต่ำในปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อน การส่งออกแผ่วลงบ้างจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงและสินค้าที่ใช้แรงงานในการผลิต ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตร และน้ำตาล ขยายตัวสูงขึ้น การนำเข้า ปรับตัวดีขึ้น ทั้งการนำเข้าเพื่อการบริโภคการลงทุน และการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรมและอุปสงค์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยในเดือนนี้การนำเข้ามีมูลค่า 12,620 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 4.7 และเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหดตัวเพียงร้อยละ 0.3 ลดลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 19.0

นักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลัก ทั้งจากกลุ่มประเทศเอเชีย โดยเฉพาะจากประเทศจีน และกลุ่มประเทศยุโรป ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2552 นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 1.37 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 13.1 และอัตราการเข้าพักหลังปรับฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 53.8 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ภาคการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน MPI ที่ปรับฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ตามการชะลอตัวของการผลิตสินค้าที่ได้เร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า อาทิ เหล็กแผ่นรีดร้อนรีดเย็นและสิ่งทอสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะ Hard Disk Drive ยังคงมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การผลิตเพื่อขายในประเทศ เช่น การผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และเครื่องดื่ม ขยายตัวดีสอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชน

สภาพคล่องในระบบการเงิน เงินฝากของสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน เนื่องจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจระดมเงินฝากเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อตามโครงการภาครัฐ และธนาคารพาณิชย์ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนสินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ที่สำคัญเป็นการให้สินเชื่อกับภาคครัวเรือน โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย

เสถียรภาพภายในและต่างประเทศยังคงแข็งแกร่ง แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2552 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 แต่เป็นผลจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน อัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ดุลการชำระเงินเกินดุลสุทธิ ลดลงจาก 2.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในเดือนก่อนเป็น 2.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในเดือนพฤศจิกายน

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ