ทำความรู้จักกับ FTA

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 13, 2010 17:29 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง

หัวหน้าเศรษฐกร กลุ่มความตกลงระหว่างประเทศ

สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

Free Trade Agreement (FTA) เป็นความตกลงการค้าเสรี เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการค้าการลงทุนระหว่างกัน เน้นการลดอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนทั้งที่อยู่ในรูปภาษีและมิใช่ภาษี เพื่อขยายตลาดและเพิ่มศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ส่งออกรวมถึงผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการค้าที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนที่ถูกลง ผู้บริโภคมีทางเลือกสินค้าและบริการหลากหลายในราคาถูกลง แต่คงต้องยอมรับว่า ผู้ผลิตในบางภาคส่วนอาจได้รับผลกระทบจากคู่แข่งที่ได้เปรียบกว่า ซึ่งทางการอาจเข้ามาช่วยเหลือเพื่อเยียวยาและช่วยในการปรับตัว

โดยทั่วไป FTA จะครอบคลุม 3 ด้านหลัก ได้แก่ การค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน สาระสำคัญของ FTA ด้านการค้าสินค้า ส่วนใหญ่จะเน้นการลดภาษีนำเข้าตามแต่จะเจรจาตกลงกันว่าครอบคลุมสินค้าใด ลดเท่าไร ภายในระยะเวลาที่กำหนด ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวของแต่ละประเทศที่อาจเจรจาให้มีข้อยกเว้นได้บ้าง ส่วนด้านการค้าบริการและการลงทุนนั้นจะเป็นการเปิดเสรีแบบค่อยเป็นค่อยไปตามความพร้อมของแต่ละประเทศ

ปัจจุบันมี FTA ที่ไทยได้ลงนามและมีผลบังคับใช้แล้ว 11 ฉบับ (ทำกับ 6 ประเทศ) ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับหลายประเทศในภูมิภาค แต่ต่ำกว่าสหภาพยุโรปซึ่งมี FTA สูงสุดรวม 28 ฉบับ และสิงคโปร์ซึ่งมี FTA สูงสุดในภูมิภาครวม 17 ฉบับ โดยเป็น FTA ที่ไทยทำกับ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย (เฉพาะสินค้า Early Harvest) และ FTA ที่อาเซียนทำกับ จีน (ด้านสินค้าและบริการแยก 2 ฉบับ) ญี่ปุ่น เกาหลี (ด้านสินค้า บริการ และลงทุนแยก 3 ฉบับ) และล่าสุด อาเซียน-อินเดีย (ด้านสินค้า) นอกจากนี้ ยังมี FTA ที่ไทยได้ลงนามแล้ว แต่ยังรอการให้สัตยาบันเพื่อให้มีผลบังคับใช้อีก 3 ฉบับ ได้แก่ ไทย-เปรู (ด้านสินค้า) อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ และอาเซียน-จีน (ด้านการลงทุน) และมี FTA ที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 3 ฉบับ ได้แก่ อาเซียน-สหภาพยุโรป และอาเซียน-อินเดีย (ด้านบริการและลงทุนแยก 2 ฉบับ)

นอกจากนี้ ไทยยังมีความตกลงภายใต้กรอบอาเซียนด้วยกันแยกเป็น 3 ฉบับ ได้แก่ AFTA (ด้านสินค้า) AFAS (ด้านบริการ) และ ACIA (ด้านการลงทุน) ซึ่งสำหรับ AFAS ได้มีการทยอยดำเนินการเปิดเสรีไปบ้างแล้วเป็นรอบๆ ของการเจรจา แต่จะต้องเร่งดำเนินการมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ผู้นำประเทศสมาชิกได้ร่วมลงนามให้มีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 ส่วน ACIA นั้นเป็นความตกลงใหม่ที่กำลังจัดทำเพื่อทดแทนความตกลงด้านการลงทุนเดิมของอาเซียนที่มีอยู่ถึง 2 ฉบับ เพื่อให้เป็นความตกลงเต็มรูปแบบฉบับเดียว

สำหรับ AFTA ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจนั้น มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2536 โดยไทยได้ทยอยลดภาษีสินค้านำเข้ามาเป็นลำดับ ซึ่งสินค้ากว่า 80% มีอัตราภาษีเป็นศูนย์แล้ว และในปีนี้จะเปิดเสรีเต็มรูปแบบ กล่าวคือสินค้าที่เหลืออีกประมาณ 20% หรือ 1,657 รายการ จะต้องลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ทั้งหมด ยกเว้นกลุ่ม

สินค้าอ่อนไหวสูง 4 รายการคือ เมล็ดกาแฟ มันฝรั่ง เนื้อมะพร้าวแห้ง และไม้ตัดดอก ที่ยังคงภาษีนำเข้าที่ 5% การเปิดเสรีดังกล่าวในปีนี้คาดว่าจะทำให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนเพิ่มขึ้น 25% ต่อปี จากเดิมที่เพิ่มเฉลี่ยปีละ 20% ขณะเดียวกันผู้ผลิตไทยก็ต้องเร่งปรับตัวรับการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรหลายรายการที่จะลดภาษีเป็นศูนย์และ/หรือยกเลิกโควตา เช่น ข้าว มะพร้าว น้ำนมดิบ/นมปรุงแต่ง นมผงขาดมันเนย ชา กาแฟ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี อัตราการใช้สิทธิ FTA ของผู้ประกอบการไทยโดยรวมยังค่อนข้างต่ำไม่ถึง 50% ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐที่ยังไม่ทั่วถึง ผู้ประกอบการขาดความเข้าใจโดยเฉพาะกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่มีความซับซ้อน ประกอบกับโครงสร้างการผลิตอาจยังไม่เอื้อให้ใช้สิทธิได้ และผู้ประกอบการยังเสี่ยงต่อการถูกปรับหากใช้สิทธิไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ความตกลงที่จัดทำในระยะหลังซึ่งเพิ่งจะเริ่มทยอยลดภาษีลง ก็อาจทำให้การใช้สิทธิยังไม่เต็มที่

ในช่วงปี 2553-2560 FTA ส่วนใหญ่จะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ กล่าวคือ รายการสินค้าเกือบทั้งหมดจะมีการลดภาษีลงเป็นศูนย์ภายใต้ความตกลงต่างๆ ผประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันจากต่างประเทศ และใช้โอกาสนี้ขยายตลาดส่งออก นอกจากนี้ ทางการควรจะเน้นการใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของไทย และการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในแต่ละความตกลง เช่น อัตราภาษีที่ยังไม่จูงใจ การใช้สิทธิประโยชน์ตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า การใช้มาตรการกีดกันการค้า เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรการด้านสุขอนามัยที่เข้มงวด เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ได้อย่างสูงสุดเมื่อครบกำหนดการลดภาษีตามตารางเวลา และเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงได้เต็มที่กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การทำ FTA ย่อมมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้ถูกกระทบ มีการให้สิทธิประโยชน์ควบคู่ไปกับภาระผูกพัน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงที่ทางการไทยอาจถูกฟ้องร้องหากไม่ปฏิบัติตาม จึงยากที่จะสรุปได้ชัดเจนว่า ไทยได้ประโยชน์จากการทำ FTA คุ้มค่าเพียงใด การศึกษาเท่าที่เคยมีมักประสบปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ปัจจัยเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่แยกจากกันไม่ได้ และต้องอาศัยข้อสมมติต่างๆ ในแต่ละงานศึกษา ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการทำ FTA คือการเปิดเสรีที่ต้องสอดคล้องกับความพร้อมของประเทศ และควรมีกลไกที่จะติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิดและเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้ผู้ประกอบการตลอดจนผู้ที่ถูกกระทบเพื่อเยียวยาและช่วยในการปรับตัว ทั้งนี้ ทางการจะต้องสามารถคงสิทธิในการดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อรองรับ เพราะสุดท้ายแล้ว เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศย่อมสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 12 มกราคม 2253

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ