พลิกโฉมระบบการชำระเงินไทย: บนมุมมองประสบการณ์ของประเทศยุโรป (ตอนที่ 1)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 12, 2010 13:37 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร. รังสรรค์ หทัยเสรี

ผู้ชำนาญการพิเศษ (ด้านระบบการชำระเงิน)

ฝ่ายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาด้านระบบการชำระเงินที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประเทศเยอรมัน ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับระบบการชำระเงินของยุโรปที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลายเรื่องน่าสนใจมาก และให้มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับโฉมหน้าของระบบการชำระเงินไทยในอนาคต จึงขอหยิบยกมากล่าวในที่นี้สัก 2 เรื่อง

เรื่องแรกเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้กลไกภายใต้ระบบ CLS (Continued Link Settlement) ในการลดความเสี่ยงด้านการชำระดุลที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Exchange Settlement Risk)

กลไกดังกล่าวเป็นการส่งมอบแบบ Payment-versus-Payment (PvP) ทำให้ไม่มีความเสี่ยงในการชำระดุลด้านธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากคู่ค้าทั้งสองข้างมีการส่งมอบเงินแต่ละสกุลพร้อมๆ กัน โดยที่ระบบ CLS เป็นการให้บริการโดยบริษัท CLS Group Holding ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของโลก

ประสบการณ์ของยุโรปสะท้อนว่า ประเทศต่างๆ มีแนวโน้มหันไปพึ่งพิงกลไก CLS มากขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารจัดการและลดความเสี่ยงในการชำระดุลด้านธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีขนาดธุรกรรมคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยกว่าวันละ 3 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ สหรัฐฯ

ในมุมมองของประเทศยุโรปที่เข้าร่วมก็มีอยู่หลายเหตุผลด้วยกัน ตัวอย่างเช่น (1) เล็งเห็นว่า มีสัดส่วนปริมาณธุรกรรมด้านเงินตราต่างประเทศ ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง (2) เชื่อมั่นว่า กลไกลดความเสี่ยงภายใต้ระบบ CLS มีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องมือลดความเสี่ยงแบบดั้งเดิมที่ธนาคารพาณิชย์ใช้อยู่ (3) ประจักษ์แจ้งแล้วว่า ประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับมีมากกว่าต้นทุนที่ต้องเสียไป จากการที่ธุรกรรมที่ส่งมอบผ่านระบบ CLS ปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 55 ของธุรกรรมส่งมอบเงินตราต่างประเทศทั่วโลก

คำถามก็คือ ควรให้เงินบาทของไทยเข้าร่วมเป็นหนึ่งใน Eligible currencies (ร่วมกับสกุลเงินหลักอีก 17 สกุล) ภายใต้ระบบ CLS หรือไม่ และเพราะเหตุใด ?

ตอบแบบเร็วๆ ก็คือ การตัดสินใจเข้าร่วมกับระบบ CLS หรือไม่อย่างไร นั้น จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักอย่างรอบคอบระหว่างประโยชน์ที่ประเทศไทยพึงได้รับ (Potential benefits) กับต้นทุนที่ต้องเสียไป (Potential costs)

ในเชิงเศรษฐศาสตร์ก็คือ จำเป็นต้องศึกษาวิเคราะห์ เพื่อเปรียบเทียบระหว่าง Costs กับ Benefits ซึ่งอาจต้องแยกแยะต่อไปว่า เป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบ Costs กับ Benefits ในระดับประเทศ และ Costs กับ Benefits ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทยที่สนใจจะเข้าร่วม ภายใต้สภาพเศรษฐกิจการเงินไทยที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงมากยิ่งขึ้นกับภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ ไม่ว่าประเทศไทยจะตัดสินใจนำเงินบาทเข้าร่วมในระบบ CLS หรือไม่อย่างไร ก็จะมีผลกระทบต่อโฉมหน้าของระบบการชำระเงินของไทยในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

หากตัดสินใจไม่เข้าร่วม ก็จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยในเชิงลึก (ดังเช่นในกรณีของประเทศฮังการี) ที่ชี้ให้เห็นว่า นอกจากต้นทุนการเข้าร่วมที่สูงจนไม่แน่ใจว่าจะคุ้มค่ากับประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำสกุลเงินของตนเข้าร่วมกับระบบ CLS แล้ว ธนาคารพาณิชย์ยังคงสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการชำระดุลเงินตราต่างประเทศ โดยพึ่งพิงเครื่องมือและกลไกต่างๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ ทั้งในเรื่องการกำหนดเพดานการส่งมอบต่อสัปดาห์ของคู่ค้าแต่ละราย (Daily settlement limit) และการหักกลบลบหนี้เงินที่จะทำการส่งมอบกันก่อน (netting) เป็นต้น

มิฉะนั้นก็อาจเป็นการเสียโอกาสของประเทศในการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือลดความเสี่ยงนี้ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุนและตลาดเงินชั้นนำระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง และสามารถทำให้ผู้ที่ลงทุนหรือค้าขายกับประเทศไทยที่มีเงินบาทเกี่ยวข้องมีความเสี่ยงลดลงอย่างชัดแจ้ง

สำหรับอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เอาไว้คราวหน้าครับ...

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ