การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 4, 2010 17:55 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางทวีวรรณ ปิ่นโต

ผู้วิเคราะห์อาวุโส

ฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย

การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้มีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้นทั้งในรูปของผลตอบแทนและการกระจายความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม การลงทุนในต่างประเทศย่อมต้องอาศัยข้อมูลและการเตรียมความพร้อมมากขึ้นจากความเสี่ยงที่มากขึ้นทั้งในรูปของอัตราแลกเปลี่ยน สภาพของประเทศและตราสารที่ลงทุน จากลักษณะดังกล่าวธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงเปิดให้มีการไปลงทุนในต่างประเทศในลักษณะเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากนักลงทุนที่มีความพร้อมที่สุด โดยในปี 2543 ได้ผ่อนคลายให้นักลงทุนสถาบันในประเทศสามารถซื้อหลักทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศจากธนาคารพาณิชย์ สำหรับนักลงทุนทั่วไปสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านกองทุน FIF (Foreign Investment Fund) ได้ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ต่อมาในปี 2551 ได้ผ่อนคลายให้บุคคลทั่วไปสามารถลงทุนในรูปของกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) หรือลงทุนผ่านนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Brokers) และล่าสุดในปีที่ผ่านมาได้อนุญาตให้นิติบุคคลที่มีขนาดสินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท ขึ้นไปสามารถลงทุนในต่างประเทศได้โดยตรง นอกจากนี้ ได้มีการประกาศผ่อนคลายหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ วงเงิน ประเภทผู้ลงทุนและประเภทหลักทรัพย์ที่สามารถลงทุนในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

จากการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศดังกล่าวพบว่ากองทุน FIF ได้เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ธปท. ได้ขยายวงเงินให้ ก.ล.ต. เพื่อจัดสรรให้แก่นักลงทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลซึ่งรวมถึงกองทุน FIF เป็นจำนวนถึง 50,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ โดยกองทุนที่ฮอตฮิตในประเทศตั้งแต่ปี 2551 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน และเป็นที่คุ้นเคยในแวดวงการเงินไทยคงหนีไม่พ้นกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรเกาหลี หรือที่เรียกกันว่า “กองทุนกิมจิ” นั่นเอง เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านเคยซื้อหรือปัจจุบันก็ยังคงลงทุนผ่านกองทุนกิมจิอยู่ ซึ่งจากข้อมูล ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 พบว่ากองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรที่ส่วนใหญ่ออกโดยภาครัฐของสาธารณรัฐเกาหลีใต้มีขนาดประมาณร้อยละ 80 ของกองทุนรวมทั้งสิ้นที่ส่งเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลจากได้รับอัตราผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนในประเทศ

“แล้วคนชาติอื่น ๆ เขานิยมลงทุนในพันธบัตรเกาหลีเหมือนเราหรือไม่?”

จากข้อมูลที่เผยแพร่โดย Financial Supervisory Service (FSS) สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ณ 30 พฤศจิกายน 2552 พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนยอดคงค้างการลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้สูงถึงร้อยละ 30 ของยอดคงค้างการลงทุนในพันธบัตรเกาหลีจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวมีขนาดใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปเลยทีเดียว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศค่อนข้างต่ำ ผู้ฝากเงินจึงนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อหาอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า “แล้วการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความเสี่ยงหรือไม่?”

ขึ้นชื่อว่าการลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยงได้เหมือนกันทั้งหมด แต่ความเสี่ยงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทตราสาร ประเทศที่ลงทุน และบางครั้งก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่อาจควบคุมได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนได้ ดังนั้น หลักการสำคัญของการลงทุนคือ เรื่องการกระจายความเสี่ยง (Diversification) เพราะหากมีการลงทุนในลักษณะกระจุกตัว (Concentration) มากเกินไป และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น อาจทำให้ขาดสภาพคล่องจากเงินที่ลงทุนทั้งจำนวน หรือเปรียบเสมือนกับการวางไข่ไว้ในตะกร้าเดียวกัน เมื่อตะกร้าตกก็อาจทำให้ไข่แตกทั้งตะกร้า

เพื่อให้การลงทุนในต่างประเทศเป็นการสร้างโอกาสและทางเลือกให้กับนักลงทุนไทยในการแสวงหาอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในประเทศ รวมทั้งเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุนให้กับนักลงทุนให้สามารถบริหารและจัดสรรเงินทุนที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ การมีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดีจึงจำเป็นต่อนักลงทุน ซึ่งในเรื่องนี้ประเด็นที่ควรพิจารณาก็คือการกระจายการลงทุนทั้งในรูปชนิดตราสาร ประเทศที่จะไปลงทุน ช่องทางการลงทุน และระยะเวลาในการลงทุนที่แตกต่างกันอย่างเหมาะสม ทำให้นักลงทุนควรต้องมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นความเสี่ยงของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน (Country Risk) การเปลี่ยนแปลงของสกุลเงินต่างประเทศ (Currency Risk) การกระจายสินทรัพย์ (Asset Allocation) ที่ลงทุน เพื่อให้มีความหลากหลายและเหมาะสม รวมทั้งติดตามสถานการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ มุมมองในการกระจายความเสี่ยงสามารถนำมาใช้พิจารณาได้ทั้งการลงทุนในพอร์ตของตนเอง องค์กร หรือภาพรวมระดับประเทศ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 4 เมษายน 2553

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ