Local Switching: ทางเลือกใหม่ของการชำระเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 18, 2010 13:47 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางวิภา ผดุงชีวิต ผู้บริหารทีม ฝ่ายระบบการชำระเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย

บัตรอิเล็กทรอนิกส์มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในสังคมไทย วัดจากปริมาณบัตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2552 มีจำนวนกว่า 60 ล้านใบ เฉพาะบัตรเดบิตเพิ่มขึ้นจาก 11 ล้านบัตร ในปี 2548 เป็น 30 ล้านบัตร แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่าการใช้ส่วนใหญ่ยังเป็นการเบิกถอนเงินสดเป็นสำคัญ ขณะที่การใช้เพื่อซื้อสินค้ายังต่ำมากเพราะต้องอาศัยระบบเครือข่ายต่างประเทศที่มีต้นทุนสูง สาหรับทางเลือกใหม่ของการชำระเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และอาจเป็นแนวทางที่จะทำให้ประชาชนหันมาใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อซื้อสินค้าทดแทนเงินสดมากขึ้น คือ การใช้ระบบเครือข่ายภายในประเทศ (Local Switching) ที่มีต้นทุนต่ำกว่า

ในที่นี้คำว่า “Local Switching” หมายถึงระบบเครือข่ายภายในประเทศรองรับการซื้อสินค้าที่ร้านค้าด้วยบัตร ซึ่งได้แก่ บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต และบัตรเครดิต แม้ว่าในช่วง 30 ป ผ่านมา สถาบันการเงินไทยได้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และเพิ่มบริการด้านบัตรในหลายรูปแบบ โดยเริ่มจากการนำบัตรเอทีเอ็มมาใช้ในปี 2526 และบัตรเครดิตและบัตรเดบิตได้นำมาใช้ในเวลาไล่เลี่ยกันคือปี 2527 และ 2528 แต่ถึงขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีระบบ Local Switching ของตนเอง ยังคงต้องพึ่งพาเครือข่ายจากต่างประเทศ แม้บัตรเอทีเอ็มที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าได้ ทำให้สถาบันการเงินบางแห่งเริ่มทยอยทดแทนบัตรเอทีเอ็มด้วยบัตรเดบิตที่ใช้แบรนด์ต่างประเทศ

ในหลายประเทศได้มีการพัฒนาระบบ Local Switching อาทิ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นระบบที่รองรับการชำระเงินผ่านบัตรเอทีเอ็ม ในขณะที่เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเบลเยียม บัตรที่ออกในประเทศทุกประเภทสามารถใช้ระบบ Local Switching ไม่ว่าจะเป็นบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต

ทำให้หลายท่านอาจจะตั้งคำถามว่า (1) ประเทศไทยควรจะมีระบบนี้แล้วหรือยัง และ (2) ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไร

สำหรับคำถามแรก ในปี 2550 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดทำแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน 2553 หรือที่เรียกว่า Payment Systems Roadmap 2010 โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ความคิดเห็น และเป็นคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบ Local Switching ซึ่งจากผลการศึกษามีความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบดังกล่าว เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อม

คำถามที่ 2 ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไร ระบบนี้เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน เพิ่มความสะดวก ลดการใช้เงินสด ลดการลงทุนซ้ำซ้อนในเครื่อง ATM และเพิ่มความเท่าเทียมกันในการใช้บริการ โดยไม่เพียงบัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่สามารถใช้ซื้อสินค้าได้ แต่บัตรเอทีเอ็มก็จะสามารถใช้ซื้อสินค้าได้เช่นกัน หากวัดเป็นตัวเลขต้นทุนด้านการชำระเงินที่ลดลง จากการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้บัตรเพื่อเบิกถอนเงินสดเพียง 1% มาใช้เพื่อซื้อสินค้าผ่านระบบ Local Switching จะมีมากกว่า 500 ล้านบาทต่อปี ยังไม่รวมถึงต้นทุนอื่น ๆ ที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขได้ ซึ่งผลก็คือ ผู้เกี่ยวข้องจะได้ประโยชน์ดังกล่าวในรูปของรายได้ที่เพิ่มขึ้นหรือค่าธรรมเนียมที่ลดลง

สิ่งที่เป็นความท้าทายต่อไป คือ ทำอย่างไรให้การใช้บัตรผ่านระบบ Local Switching เป็นที่นิยม เพื่อลดการพึ่งพาระบบของต่างประเทศ ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย มีแนวนโยบายที่ชัดเจนในการยกระดับให้บัตรเอทีเอ็มสามารถใช้ซื้อสินค้าได้ และส่งเสริมให้บัตรเดบิตและเครดิตใช้ระบบLocal Switching ในช่วงปี 2553-2555 โดยหน่วยงานที่ผู้เกี่ยวข้องจะเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า สถาบันการเงิน บริษัทที่พัฒนาระบบ และภาครัฐ ซึ่งจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาระบบและบริการที่เพิ่มความสะดวกสบาย การใช้บริการง่าย คาธรรมเนียมที่เป็นธรรม มีจำนวนร้านค้ารับบัตรมากเพียงพอและกระจายไปทั่วประเทศ และมีการจัดรายการโปรโมชั่นให้เหมาะสมตามช่วงเวลาและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยเป็นสำคัญ สิ่งเหล่านี้หากเราร่วมมือกันทำให้สำเร็จผลประโยชน์ก็จะตกอยู่ในประเทศเรามากขึ้น

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 18 พฤษภาคม 2553

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ