แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤษภาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 30, 2010 15:19 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 26/2553

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคมขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและภาคการท่องเที่ยวลดลง จากความไม่สงบทางการเมือง แต่ผลกระทบอยู่ในวงจำกัด ขณะที่การลงทุนและการส่งออกยังขยายตัวได้ดี ตามความต้องการจากต่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง

เสถียรภาพเศรษฐกิจด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนเสถียรภาพในประเทศ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากราคาอาหารสดจากปัญหาสภาพอากาศที่ทำให้ผลผลิตผักและผลไม้เข้าสู่ตลาดน้อยลง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.8 โดยอัตราการเข้าพักลดลงอยู่ที่ร้อยละ 34.9 จากการเข้าพักโรงแรมในเขตกรุงเทพฯ และภาคกลางที่ลดลงมาก อย่างไรก็ตาม อัตราเข้าพักในเขตภาคใต้อยู่ในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 45.5 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 42.9 นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนลดลงเช่นกัน แต่ระดับของการบริโภคยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.2 ตามการลดลงของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ปริมาณการใช้น้ำมัน และปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ ส่วนหนึ่งจากความกังวลต่อสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและการประกาศห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด (Curfew)

ด้านการลงทุนยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 จากระยะเดียวกันปีก่อนและร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อน ตามการขยายตัวของการลงทุนในหมวดเครื่องจักร เพื่อรองรับคำสั่งซื้อในอนาคตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และการลงทุนขยายกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน นอกจากนี้ การลงทุนในหมวดก่อสร้างก็ปรับตัวดีขึ้นตามการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพมหานคร ส่วนแรงกระตุ้นจากภาครัฐยังมีต่อเนื่อง แต่ชะลอลง เนื่องจากวันหยุดราชการที่มากขึ้น

อุปสงค์จากต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์สูง การส่งออกยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 42.5 คิดเป็นมูลค่า 16,436 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยขยายตัวดีในทุกหมวดสินค้า และทุกตลาด ส่วนการนำเข้าในเดือนนี้ มีมูลค่า 14,137 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 53.5 ขยายตัวดีทุกหมวด ทำให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุล 2,299 ล้านดอลลาร์ สรอ. หลังจากที่ขาดดุลในเดือนก่อน 190 ล้านดอลลาร์ สรอ. อย่างไรก็ตาม แม้ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลต่อเนื่องจากรายรับการท่องเที่ยวที่ลดลงและรายจ่ายผลประโยชน์จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,039 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้าย เป็นการไหลออกสุทธิ 2,542 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่งผลให้ดุลการชำระเงินขาดดุล 989 ล้านดอลลาร์ สรอ.

ภาคการผลิตยังขยายตัวดีสอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.2 แต่เมื่อปรับฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 3.9 เนื่องจากมีบางอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่การประกาศห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด ได้รับผลกระทบจากชั่วโมงทำงานที่น้อยลงโดยเฉพาะอุสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีคำสั่งซื้อในระดับสูง ขณะที่ภาคเกษตรขยายตัวทั้งทางด้านผลผลิตและราคา โดยผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าว จากการเลื่อนรอบการเพาะปลูกและปาล์มน้ำมันจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ให้ผลผลิต ด้านราคาพืชผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.5 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาผัก ยางพาราข้าวเปลือกเหนียว และมันสำปะหลัง จากอุปสงค์โลกที่ยังขยายตัวดี และอุปทานที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้งและเพลี้ยระบาด ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 33.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน

เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (รวมตั๋วแลกเงิน) ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการไหลกลับเข้ามาของเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อลงทุนในต่างประเทศ และตราสารหนี้ในประเทศที่ครบกำหนด ส่วนสินเชื่อของสถาบันรับฝากเงิน เร่งตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 7.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอน ค่าจดจำนองและภาษีธุรกิจเฉพาะที่สิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม (ต่อมาได้มีการขยายระยะเวลาออกไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน) ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจกลับมาขยายตัวเป็นบวกจากระยะเดียวกันปีก่อนเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี โดยเป็นการเร่งขึ้นของสินเชื่อเพื่อเป็นทุนหมุนเวียน

เสถียรภาพโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งสูงขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดจากปัญหาสภาพอากาศที่ทำให้ผลผลิตผักและผลไม้เข้าสู่ตลาดน้อยลง ส่วนเสถียรภาพต่างประเทศมีฐานะมั่นคง ทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศและหนี้ต่างประเทศ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ