สรุปภาวะเศรษฐกิจสำคัญในภาคใต้ เดือนมิถุนายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 30, 2010 17:15 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนมิถุนายน ปี 2553 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญพืชผลและประมงเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าเดือนก่อน ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน แม้ผลผลิตยางจะลดลงเล็กน้อย ก็ตาม ส่วนการท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทางด้านเครื่องชี้ด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการส่งออก ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน ขณะที่ การลงทุนขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากเครื่องชี้พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างที่ลดลง ส่วนการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการลดลง สำหรับ อัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากเดือนก่อน

ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 เศรษฐกิจภาคใต้ขยายตัว จากรายได้เกษตรกรที่เร่งตัวขึ้นตามราคายางที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก และการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นทุกเครื่องชี้ ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลงตามการส่งออกโดยเฉพาะยางพาราแปรรูป การท่องเที่ยวชะลอลงตามการท่องเที่ยวทางอันดามันและสุราษฎร์ธานี จากผลกระทบสถานการณ์ทางการเมืองและเหตุการณ์ระเบิดของภูเขาไฟในประเทศไอซ์แลนด์ สำหรับการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลแม้ว่าจะชะลอลงจากไตรมาสก่อน แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐลดลง ผลจากการลดลงของรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ

1. ภาคเกษตร ดัชนีรายได้ของเกษตรกรในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 107.7 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นทั้งด้านราคาและผลผลิต โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 97.7 เร่งตัวขึ้นตามราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ที่สูงถึงกิโลกรัมละ 109.8 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 110.6 เนื่องจากอุปทานยางในประเทศผู้ผลิตมีจำกัด ขณะที่ความต้องการใช้ยางยังมีต่อเนื่องโดยเฉพาะญี่ปุ่น ส่วนราคาปาล์มน้ำมันปรับลดลงร้อยละ 8.0 อยู่ที่กิโลกรัมละ 4.23 บาท ด้านดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ตามปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตยางลดลงเล็กน้อย เนื่องจากการเปิดกรีดยางในฤดูใหม่ล่าช้าออกไปจากผลกระทบภัยแล้ง และในช่วงปลายเดือนนี้เกิดฝนตกหนักในแหล่งผลิตสำคัญ

ด้านการทำประมงทะเล สัตว์น้ำนำขึ้นท่าเทียบเรือประมงขององค์การสะพานปลาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 19.3 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 โดยเพิ่มขึ้นเกือบทุกจังหวัด ผลจากมาตรการปิดอ่าวทำให้ปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นและการทำประมงในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น มีเพียงท่าเทียบเรือประมงภูเก็ตที่มีการนำสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือ ฯ ลดลงเนื่องจากกองเรือทูน่าเข้าเทียบท่าลดลง ส่วนการเพาะเลี้ยงกุ้ง มีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงค่อนข้างมาก โดยลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 28.9 เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ราคาจำหน่ายกุ้งปรับเพิ่มขึ้นทุกขนาด โดยกุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7

ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ดัชนีรายได้เกษตรกรขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 96.5 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.6 ตามดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.5 จากการปรับเพิ่มขึ้นของราคายางซึ่งในไตรมาสนี้ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 109.23 บาทเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 52.74 บาทในไตรมาสเดียวกันปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ราคาปาล์มน้ำมันเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.89 บาทลดลงร้อยละ 9.7 ด้านปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนีผลผลิตพืชผลเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากไตรมาสแรกของปีนี้ที่ลดลงร้อยละ 0.2 ตามผลผลิตปาล์ม แม้ว่าปริมาณผลผลิตยางลดลงจากข้อจำกัดจากฤดูกาลและสภาพอากาศ

ปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือภาคใต้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 21.0 จาก ท่าเทียบเรือปัตตานีและสงขลาเป็นสำคัญ ผลจากการทำประมงนอกน่านน้ำในอินโดนีเซีย ส่วนปริมาณสัตว์น้ำจากท่าเทียบเรือระนองและภูเก็ตลดลง ส่วนหนึ่งจากการทำประมงนอกน่านน้ำในพม่าและกองเรือทูน่าเข้ามาลดลง สำหรับผลผลิตกุ้งขาวของภาคใต้ลดลงร้อยละ 13.3 เนื่องจากปัญหาภัยแล้งทำให้กุ้งไม่โตตามระยะการเลี้ยงปกติ และมีการเร่งจับกุ้งออกขายบางส่วนในช่วงก่อนหน้ารวมทั้งเกิดโรคระบาดในหลายพื้นที่ ด้านราคากุ้ง ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส เนื่องจากผลผลิตกุ้งของโลกลดลงโดยเฉพาะในประเทศผู้ผลิตสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย และจีน ประกอบกับการเกิดน้ำมันรั่วไหลในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯและต้องปิดน่านน้ำ ทำให้ราคากุ้งไตรมาสนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกขนาด โดยราคากุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม เฉลี่ยกิโลกรัมละ 130.4 บาทเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.4

2. ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวดีขึ้น โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 จากที่ขยายตัวในอัตราร้อยละ 13.5 ในเดือนก่อน ตามการขยายตัวของการผลิตเพื่อการส่งออกเกือบทุกสินค้า มีเพียงอุตสาหกรรมยางที่ลดลงเล็กน้อยตามปริมาณวัตถุดิบที่ลดลง โดยเป็นการลดลงของการผลิตน้ำยางข้นและยางคอมพาวนด์ ขณะที่ยางแผ่นรมควันและยางแท่งขยายตัว ส่วนการผลิตอาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็งและเปรรูป เพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์กุ้ง และปลา เป็นสำคัญส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศอินโดนีเซียและจีนยังไม่ฟื้นตัวจากความเสียหายและกำลังซื้อจากประเทศผู้ซื้อสำคัญ ได้แก่ ประเทศสรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นยังมีต่อเนื่อง

ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกและใช้ในประเทศ โดยอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออก มีเพียงอุตสาหกรรมยางแปรรูปและยางคอมพาวนด์ที่ปรับลดลงตามปริมาณวัตถุดิบ โดยอาหารทะเลบรรจุกระป๋องขยายตัวร้อยละ 31.4 ตามการส่งออกที่ขยายตัวในทุกตลาดหลัก เช่นเดียวกับอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 จากผลิตภัณฑ์กุ้ง ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศคู่แข่งขัน ได้แก่ อินโดนีเซียและจีนประสบปัญหาด้านการผลิต

3. การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งในภาคใต้ฝั่งตะวันตก ภาคใต้ตอนล่างและภาคใต้ฝั่งตะวันออก เนื่องจากภาครัฐและภาคเอกชนมีการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว การทำการตลาด การส่งเสริมการขาย และการมีเที่ยวบินตรง โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 31.4 และมีอัตราการเข้าพักโรงแรมร้อยละ 42.7 ทั้งนี้ การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในบางจังหวัด คาดว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยหลายประเทศมีการลดระดับการเตือนการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 การท่องเที่ยวของภาคใต้ขยายตัว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่ผ่านตรวจคนเข้าเมืองเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32.7 แม้ว่าจะชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 38.1 ตามการชะลอลงของนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ ส่วนหนึ่งเนื่องจากผลของสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศทำให้หลายประเทศประกาศเตือนการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย และเหตุการณ์ระเบิดของภูเขาไฟในประเทศไอซ์แลนด์ อย่างไรก็ตามการมีเที่ยวบินตรงมายังแหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ทำให้นักท่องเที่ยวยังคงเดินทางเข้ามายังภาคใต้ได้สะดวก ประกอบกับการทำตลาดระยะใกล้เพิ่มขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวจากประเทศระยะใกล้เพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ ออสเตรเลีย เกาหลี และสิงคโปร์ ส่วนในภาคใต้ตอนล่าง ขยายตัวดี เป็นผลจากการทำกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลต่างๆ การเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศและมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดอย่างสม่ำเสมอ

4. การจ้างงาน การจ้างงานลดลงจากเครื่องชี้ ตำแหน่งงานว่างที่ผู้ประกอบการแจ้งผ่านจัดหางานจังหวัด การสมัครงาน และการบรรจุงานลดลง ร้อยละ 18.1 12.5 และ 6.9 ตามลำดับส่วนจำนวนแรงงานที่เข้าโครงการประกันสังคมตามมาตรา 33 ชะลอลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเดือนนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5

ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ความต้องการจ้างงานของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น สะท้อนจากตำแหน่งงานว่างที่ผู้ประกอบการแจ้งผ่านจัดหางาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 โดยมีการบรรจุงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 อย่างไรก็ตามผู้มาสมัครงานลดลงร้อยละ 16.0

5. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่น โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 3.6 เทียบกับเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 โดยเครื่องชี้ที่ชะลอตัวลง ได้แก่ภาษีมูลค่าเพิ่ม การใช้ไฟฟ้า และการจดทะเบียนรถ ส่วนการใช้เชื้อเพลิงเร่งตัวขึ้น

ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.6 ชะลอลงจากร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายเนื่องจากขาดความเชื่อมั่น จะเห็นได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงร้อยละ 17.0 จากร้อยละ 21.7 ในไตรมาสก่อน และปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 0.5 อย่างไรก็ตาม รายได้ภาคการเกษตรและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็นผลให้ ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.4 นอกจากนี้ ปริมาณการใช้ไฟฟ้ายังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 15.0

6. การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากเครื่องชี้พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างที่ลดลงร้อยละ 11.3 จากเดือนเดียวกันปีก่อน โดยโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนรายเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3 และเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.2 ส่วนใหญ่เป็นกิจการต่อเนื่องจากสินค้าเกษตร ขณะที่การจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลใหม่ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 49.8

ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 การลงทุนภาคใต้โดยรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ทั้งการขยายตัวของพื้นที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 โครงการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ซึ่งมีจำนวน 23 โครงการ เงินลงทุนรวม 5,657.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 76.9 และ ร้อยละ 293.4 ขณะเดียวกันการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลรายใหม่เงินทุนจดทะเบียนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 63.3

7. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในภาคใต้ ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 22.0 โดยรายจ่ายลงทุนลดลงร้อยละ 55.2 เนื่องจากในปีนี้มีการเร่งการเบิกจ่ายการเบิกจ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้วในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ ทำให้ในเดือนนี้เบิกจ่ายลดลงร้อยละ 62.9 ส่วนรายจ่ายประจำลดลงร้อยละ 3.6

สำหรับการจัดเก็บภาษีอากรลดลงร้อยละ 10.8 ตามการลดลงของการจัดเก็บภาษีทุกประเภท ทั้งสรรพากร สรรพสามิต และศุลกากร

ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ ในภาคใต้ ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.5 เป็นการเบิกจ่ายจากรายจ่ายประจำลดลงร้อยละ 6.2 และรายจ่ายลงทุนลดลงร้อยละ 56.3 ส่วนการจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.9 จากการจัดเก็บภาษีสรรพากรและภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.0 และร้อยละ 5.2 เป็นสำคัญ จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552

8. การค้าต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกชะลอลง โดยส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สรอ.เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 56.5 จากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.1 ตามการชะลอลงของมูลค่าส่งออกสินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ถุงมือยาง อาหารกระป๋อง และสินค้าอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกขยายตัวสูงขึ้น ได้แก่ ไม้ยางพาราแปรรูปและสัตว์น้ำแช่แข็ง ในขณะที่การนำเข้าเร่งตัวโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.7 จากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.8 จากการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และอิเล็กทรอนิกส์

ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 64.9 โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงขึ้น ได้แก่ ยางพาราแปรรูป ซึ่งเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนสูงขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 115.1 รวมทั้ง ถุงมือยาง และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกชะลอลง ได้แก่ ไม้ยางพาราแปรรูป สัตว์น้ำแช่แข็ง และอาหารกระป๋อง ทางด้านมูลค่าการนำเข้า เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 72.8 เร่งตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเพิ่มขึ้นทุกหมวดสินค้าที่สำคัญได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ สัตว์น้ำแช่แข็งและอิเล็กทรอนิกส์

9. ภาคการเงิน ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 คาดว่าเงินฝากและเงินให้สินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ขยายตัวร้อยละ 7.9 และร้อยละ 6.1 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนเดียวกันของปีก่อน จากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐภายใต้โครงการปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง รวมทั้งราคายางซึ่งเป็นสินค้าเกษตรสำคัญของภาคใต้ปรับตัวสูงขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เงินฝากและความต้องการสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

10. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.6 โดยดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มเร่งตัวขึ้นร้อยละ 7.1 ตามราคาผักและผลไม้ ไข่และเนื้อสัตว์ เนื่องจากผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง และอากาศร้อนจัด ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มชะลอลงตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ชะลอลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ระดับร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากร้อยละ 1.4 ในเดือนก่อน

ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ชะลอลงจากร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามราคาหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงร้อยละ 2.3 โดยสินค้าที่ราคาชะลอลงมาก ได้แก่ น้ำประปาและน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาผักและผลไม้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : นาฏน้อย แก้วมีจีน

โทร.0-7423-6200 ต่อ 4329

e-mail : nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ