เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 30, 2010 17:30 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 9 /2553

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนมิถุนายน 2553 ขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่เก้าและเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวดีโดยเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องทั้งการก่อสร้างและการลงทุนขยายการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ด้านการอุปโภคบริโภคขยายตัวตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวแต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน การท่องเที่ยวลดลงต่อเนื่อง ขณะที่รายได้เกษตรกรหดตัวตามการลดลงของผลผลิตจากปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย

ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากราคาเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำโดยยังมีความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น สำหรับเงินให้สินเชื่อเร่งตัว ส่วนเงินฝากขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

อุปสงค์ในภาคเหนือขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 4.4 เร่งตัวจากร้อยละ 3.0 เดือนก่อน สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์รถจักรยานยนต์และยอดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า จากความเชื่อมั่นของประชาชนที่ดีขึ้น ประกอบกับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำและเงื่อนไขการผ่อนชำระค่าสินค้าที่ผ่อนปรน ด้านดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยขยายตัวร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของการก่อสร้างภาคเอกชน การนำเข้าเครื่องจักรเพื่อขยายการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต สอดคล้องกับโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือที่ขยายตัวสูงในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ แปรรูปพืชผักผลไม้ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเลี้ยงไก่เนื้อ สำหรับแรงกระตุ้นจากภาครัฐยังคงลดลงแต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนโดยเฉพาะหมวดลงทุน อย่างไรก็ดี ส่วนราชการบางหน่วยงานได้รับงบประมาณผ่านทางโครงการไทยเข้มแข็งส่งผลให้เม็ดเงินใช้จ่ายภาครัฐยังคงมีต่อเนื่อง

อุปสงค์ในต่างประเทศ การส่งออกขยายตัวดีใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยมีมูลค่า 291.1 ล้านดอลลาร์ สรอ.ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 58.4 โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์และชิ้นส่วน และสินค้าเกษตรที่กลับมาเพมิ่ ขึ้นหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อน ตามการส่งออกข้าวโพดและใบยาสูบสำหรับการส่งออกผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 53.8 เป็น 129.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกไปพม่า ลาว และจีนตอนใต้ ด้านการนำเข้าในเดือนนี้มีมูลค่า 115.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 21.5 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตโลหะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ผักและผลไม้ชะลอตัว

โดยอุปสงค์ในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ภาคการผลิตขยายตัว โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือขยายตัวร้อยละ 51.3 ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรทัศน์ รวมทั้งเครื่องดื่ม เสื้อผ้าสำเร็จรูป วัสดุก่อสร้างและเซรามิก ส่วนการผลิตอาหารแปรรูปหดตัวตามการผลิตผักสดแช่แข็งและพืชผักถนอมอาหารที่ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่มีการผลิตสูงกว่าปกติ ด้านการท่องเที่ยวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนจากผลกระทบเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ด้านดัชนีการค้าขยายตัวร้อยละ 18.6 ชะลอจากเดือนก่อนตามภาวะท่องเที่ยวและรายได้เกษตรกรที่หดตัวลงร้อยละ 4.1

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคเหนืออยู่ทรี่ อยละ 3.6 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากราคาเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน

การจ้างงานในภาคเหนือเดือนพฤษภาคม 2553 มีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเท่ากับร้อยละ 1.4 ต่ำกว่าร้อยละ 1.6 ระยะเดียวกันปีก่อน โดยภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอยังมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น

ยอดเงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2553 ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.0 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.8 เดือนก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากกระแสรายวันของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม มีการถอนเงินฝากประเภทจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาเพื่อนำไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอย่างต่อเนื่อง ด้านเงินให้สินเชื่อเร่งตัวร้อยละ 7.3 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 5.9 เดือนก่อน ตามความต้องการสินเชื่อโดยกระจายไปในหลายธุรกิจ ได้แก่ ค้าปลีกค้าส่ง ค้าวัสดุก่อสร้าง สหกรณ์ออมทรัพย์ เช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

สำหรับภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน โดยการส่งออกสินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าแปรรูปเกษตรขยายตัวดีต่อเนื่องตามความต้องการในตลาดต่างประเทศ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าคงทน จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องประกอบกับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำและเงื่อนไขการผ่อนชำระค่าสินค้าที่ผ่อนปรน การลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวทั้งการลงทุนภาคก่อสร้างและการลงทุนขยายการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมส่งออกเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ผลกระทบของเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ทำให้ภาคการท่องเที่ยวซึ่งฟื้นตัวในไตรมาสที่ 1 กลับหดตัวลงและการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องชะลอลง ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวโดยเฉพาะหมวดลงทุน เนื่องจากส่วนงานราชการบางแห่งได้รับจัดสรรงบประมาณจากโครงการไทยเข็มแข็งแล้ว ขณะที่รายได้เกษตรกรที่หดตัวตามการลดลงของราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรัง สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ระดับราคาชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน สำหรับเงินให้สินเชื่อเร่งตัว ส่วนเงินฝากขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณกุศล จันทร์แสงศรี

โทร 0 5393 1164

E-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ