สุนทรพจน์กล่าวนำ: 10 ปี คลังข้อมูล ก้าวไกลสู่อนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 18, 2010 17:06 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

สุนทรพจน์กล่าวนำ

เรื่อง “10 ปี คลังข้อมูล ก้าวไกลสู่อนาคต”

โดย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

ในงานสัมมนาวิชาการปี 2553 ฝ่ายบริหารข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย

ณ โรงแรมเชอราตันแกรนด์ สุขุมวิท

วันพุธที่ 18 สิงหาคม 2553 เวลา 9.15 — 9.40 น.

_________________

สวัสดีครับท่านผู้มีเกียรติ ทุกท่าน

ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมงานสัมมนาวิชาการของฝ่ายบริหารข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการจัดตั้งฝ่ายบริหารข้อมูล การสัมมนาในวันนี้นับเป็นโอกาสอันดี ที่เราจะได้มาทบทวนบทบาทของการจัดตั้งฝ่ายบริหารข้อมูลขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลที่สำคัญของ ธปท. และทบทวนการพัฒนาด้านระบบคลังข้อมูล ธปท. ที่ผ่านมา ว่าได้ทำอะไรมาบ้าง ตอบโจทย์วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ในโลกปัจจุบันอย่างไร และต้องทำอะไรต่อไป เพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของประเทศได้อย่างพอเพียง เรื่องที่ผมจะกล่าวถึงในวันนี้ คือ

1. มูลเหตุในการจัดตั้งฝ่ายบริหารข้อมูลภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ภายใต้การปรับโครงสร้างองค์กรและกลยุทธ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อแก้ไขจุดบกพร่อง และฟื้นฟูประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือของ ธปท. ในขณะนั้น

2. การขับเคลื่อนธุรกิจและขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ด้วยข้อมูลสถิติที่มีคุณภาพและทันกาล

3. ความท้าทายของการจัดทำข้อมูลในอนาคต ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ และปัจจัยเสี่ยงในการจัดทำข้อมูล การประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรสถิติต่าง ๆ

ท่านผู้มีเกียรติ

วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียในปี 2540 สะท้อนว่า การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ทำให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของโลกเชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ และมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จึงจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วน เพียงพอ และทันเวลา เพื่อการดำเนินนโยบายให้เป็นไปในทิศทางที่ดีกับประเทศ สามารถรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

หลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 ธปท. ได้ทบทวนถึงบทบาท ความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อรองรับหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ พบว่ามีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงแก้ไขอยู่มาก

ข้อมูลสถิติที่ถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเบื้องต้นของผู้วางนโยบาย และผู้ที่ดำเนินการตามนโยบาย ที่ต้องมีพร้อมอยู่ในมือนั้น จากผลการศึกษาพบว่า

1) การจัดเก็บข้อมูลกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้งานในภารกิจของตน จึงมีการจัดเก็บข้อมูลซ้ำซ้อน เป็นภาระแก่ผู้ให้ข้อมูล และสร้างความไม่พอใจอย่างมาก

2) ต่างฝ่ายต่างเก็บข้อมูลเอง จึงต่างก็มีความเป็นเจ้าของข้อมูลในแต่ละส่วนของตน ไม่สามารถใช้ข้อมูลร่วมกัน ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของประเทศที่เปิดรับกระแสเงินทุนของโลกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความจำเป็นต้องติดตามและเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ

3) มาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลต่างกัน มีระบบงานข้อมูลย่อยๆ กระจายอยู่ตามสายงานต่างๆ ต่างฝ่ายต่างทำ คนละมาตรฐาน ระบบไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเป็นภาพรวมถึงกันได้ มีต้นทุนการบริหารจัดการสูง ไม่ประหยัด

4) ไม่มีการพัฒนาการรายงานข้อมูลหลังจากการเปิดเสรีทางการเงิน จึงไม่มีข้อมูลต่าง ๆที่จำเป็นตามระบบการเงินที่เปิดเสรี เช่น ยอดคงค้างภาระผูกพันหนี้ต่างประเทศที่เอกชนสร้างขึ้น ฐานะด้านการลงทุนระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินหนี้สินที่แท้จริงของประเทศไทย ความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปิดเสรี รวมทั้งในด้านความถี่และความล่าช้าในการเผยแพร่ เช่น GDP เผยแพร่เป็นรายปี และมีความล่าช้าถึง 2 ปี เป็นต้น

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

เพื่อบรรเทาปัญหาข้อมูลข้างต้น สิ่งที่ได้มีการดำเนินการทันทีคือ การจัดตั้งสายงานเพื่อเข้ามารับผิดชอบงานด้านการบริหารจัดการข้อมูลโดยรวม คือ สายฐานข้อมูล หรือฝ่ายบริหารข้อมูลในปัจจุบัน สิ่งที่ทำไปแล้วคือรวบรวมงานด้านการจัดเก็บข้อมูลที่บริหารโดยฝ่ายงานต่างๆ มารวมศูนย์อยู่ที่เดียว เพื่อให้เชื่อมโยงภาพรวมได้ และสร้างระบบบริหารจัดการข้อมูล โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งมีระบบการนำเสนอชุดข้อมูลพร้อมใช้สำหรับผู้บริหารและผู้วิเคราะห์ ตามบทบาทและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในแต่ละสายงาน และปรับกระบวนการจัดทำและและเผยแพร่ข้อมูลเข้าสู่มาตรฐานสากล รวมทั้งจัดเก็บข้อมูลที่ยังไม่เพียงพอเพิ่มเติม เช่น การสำรวจหนี้ภาคเอกชนที่มิใช่ธนาคาร และการสำรวจฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ เป็นต้น ทางด้านการกำกับตรวจสอบสถาบันการเงินได้มีการปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูลตามมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบ Inflation targeting ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมนั้น ธปท. มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเศรษฐกิจการเงินต่างๆ จำนวนมากเพื่อใช้ในกระบวนการตัดสินนโยบาย ทั้งการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และใช้สร้างแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคเพื่อประมาณการเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วง 8 ไตรมาสข้างหน้า ทำให้ ธปท. มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูล GDP

รายไตรมาส ธปท.ได้ประสานงานกับสภาพัฒน์ฯ อย่างใกล้ชิด จนมีการจัดทำ GDP รายไตรมาส ส่วนเงินเฟ้อเป้าหมาย มีการประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ให้จัดทำเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักอาหารสดและพลังงาน พร้อมสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผล รวมทั้งมีการพัฒนาดัชนีเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจการเงินหลายตัวเพื่อเป็นเครื่องชี้ระยะสั้นประกอบการดำเนินนโยบายการเงิน

ในการพัฒนาระบบการจัดการข้อมูล ธปท.ได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยและเป็นอัตโนมัติมากที่สุดมาใช้ตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การรับส่งข้อมูล จัดเก็บข้อมูล และเผยแพร่ ด้านการจัดเก็บได้นำเทคนิคระบบคลังข้อมูล (Data Warehousing) ที่มีประสิทธิภาพสูงในการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ สร้างมาตรฐานการจัดเก็บเพื่อให้ข้อมูลสามารถเชื่อมโยงกับองค์กรอื่นทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ผมทราบมาว่า ขณะนี้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ได้ดำเนินการไปแล้ว และเมื่อไม่นานมานี้ ได้พัฒนาระบบงานใหม่มาใช้ คือ BOT Data Dissemination หรือ BOTdd เพื่ออำนวยช่องทางที่สะดวกทันสมัยให้ผู้บริหารและพนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการ เป็นพื้นที่ (platform) สำหรับการแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลเพื่อใช้งานร่วมกันระหว่างหลายๆ ฝ่ายและสายงาน โดยมีความพยายามปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาสาระทั้งตารางข้อมูล กราฟ และสร้างจอภาพอีเลกทรอนิกส์ (dash board) ต่างๆ ที่น่าสนใจและให้ผู้ใช้งานไปสร้างต่อเป็น dash board ส่วนตัวเพื่อการใช้งานได้โดยสะดวก นับเป็นการเพิ่มคุณค่าของข้อมูลสถิติสู่สารสนเทศเชิงวิเคราะห์ยิ่งขึ้น จึงขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของสายระบบข้อสนเทศ และผมก็หวังว่า ธปท.จะได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และยังคงมุ่งพัฒนาคลังข้อมูลสถิติและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างไม่หยุดยั้งต่อไป

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

เท่าที่ดูการพัฒนาของฝ่ายบริหารข้อมูลในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาคลังข้อมูลและระบบสารสนเทศขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลสถิติที่ทำขึ้นได้รับการประเมินตามมาตรฐานสากล ROSC(*1) ว่าอยู่ในระดับดีถึงดีมากในด้านการสอดคล้องกับมาตรฐานสากล แต่ความต้องการมิได้หยุดนิ่งอยู่แค่นั้น สภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จากระดับการพัฒนาประเทศ และสภาพแวดล้อมทางการเงินของโลกที่แปรเปลี่ยน ทำให้เราต้องมองไปข้างหน้า และเตรียมการรับมือในการจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้ติดตามสถานการณ์ได้ทัน และนับว่าภารกิจข้างหน้าในการพัฒนาคลังข้อมูล ธปท. นั้น มีความท้าทายหลายประการ

ประการแรก การวิเคราะห์ความจำเป็นทางด้านข้อมูล เพื่อให้รู้หรือคาดการณ์ความต้องการด้านข้อมูลสถิติในอนาคตได้นั้น จำเป็นจะต้องมีการติดตามทิศทางแนวโน้มที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจและสังคม ติดตามทิศทางงานวิจัยใหม่ๆ ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ตลอดจนความก้าวหน้าในงานสถิติขององค์กรสถิติทั้งในระดับประเทศและในสากล รวมทั้งมีการสื่อสารกับผู้ใช้ข้อมูลอยู่เป็นประจำ เพื่อสำรวจอาณาบริเวณของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เรายังมีความเข้าใจไม่เพียงพอ มีการแยกแยะประเด็นเร่งด่วนและประเด็นสำคัญที่จะต้องจัดทำในระยะยาว ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นงานปกติภายใต้กระบวนการวางแผนนโยบายทางด้านสถิติ และควรให้ความสำคัญและทำอย่างจริงจังสม่ำเสมอ

ผมขอยกตัวอย่าง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างในระบบเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ภาคบริการมีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยมีสัดส่วนสูงขึ้นทัดเทียมภาคอุตสาหกรรม แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลจัดทำข้อมูลภาคนี้อย่างจริงจัง และอาจยังถือว่าเป็นช่องว่างของข้อมูลที่ต้องพัฒนาขึ้น

นอกจากนี้ พลวัตรการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกาภิวัฒน์ ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเติบโตของสังคมบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโมบายล์ ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินที่ซับซ้อน ข้ามพรหมแดนทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ที่เป็นตัวเร่งให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วไม่หยุดนิ่ง จึงน่าจะเป็นโจทย์ภารกิจที่สำคัญ สำหรับการพัฒนาคลังข้อมูลของ ธปท. ว่าควรจะมีแนวทางเช่นไร เพื่อสนองความจำเป็นและความต้องการใช้งานของ ธปท. และสาธารณะได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ที่ทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เราคงต้องเร่งมือในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อติดตามให้ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อมิให้ส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ

แนวทางวิเคราะห์ความจำเป็นในระดับภาพกว้างข้างต้น อาจทำได้ โดยการดูตัวอย่างพัฒนาการของสถิติในต่างประเทศที่เจริญก้าวหน้า เราจะพบว่า งานสถิติในประเทศหลายด้านยังตามหลังการเปลี่ยนแปลงอยู่มาก สถิติหลายอย่างเรายังไม่มี หรือสถิติที่มีแล้วยังจัดทำคุณภาพไม่ได้ตามมาตรฐานสากล ผมใคร่ขอฝากให้ทุกท่านช่วยกันศึกษาพิจารณาความจำเป็น โดยคำนึงถึงประโยชน์และความจำเป็นของประเทศเป็นหลัก

ประการที่สองในเรื่องอุปสรรคและความเสี่ยงในงานพัฒนาคลังข้อมูล นอกจากความเสี่ยงในแง่ของการเก็บข้อมูลไม่ได้ตามต้องการแล้ว ในทางตรงข้าม องค์กรสถิติก็จะต้องมีความรอบคอบในการวางแผน และจัดการงานสถิติ มิให้มีการเก็บสถิติมากเกินความจำเป็น หรือมีการเก็บสถิติที่ซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงาน เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นการสูญเสียงบประมาณและทรัพยากรไปอย่างน่าเสียดายแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่ง คือ การเพิ่มภาระให้แก่ผู้ให้ข้อมูลโดยไม่จำเป็น และอาจทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือที่ดี ทั้งนี้ เทคนิคทางสถิติศาสตร์บางกลุ่ม พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ไขชดเชยปัญหาข้อมูลไม่เพียงพอ ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่สถิติมีความเชี่ยวชาญในเทคนิคดังกล่าว ก็อาจช่วยลดภาระในการเก็บข้อมูลให้อยู่ที่ระดับน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น

และประการสุดท้ายที่ผมอยากจะฝากเป็นประเด็นไว้ คือการพัฒนาบุคลากรทางด้านสถิติ จากปัญหาและความท้าทายที่กล่าวมา ฉะนั้นแล้ว หน่วยงานสถิติทั้งหลาย จึงควรรอบรู้เกี่ยวกับงานสถิติขององค์กรอื่นๆ อีกทั้งบุคลากรทางด้านสถิติควรมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์และพัฒนาทักษะทางเทคนิคและการจัดการร่วมกันเพื่อเพิ่มโอกาสและแนวทางในการประสานความร่วมมือ ทั้งในการวางแผนพัฒนา เก็บข้อมูล และจัดทำสถิติที่จะใช้งานร่วมกันได้ ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นต่อไป

บุคลากรทางด้านสถิติ ควรต้องมีความสามารถในการปรับตัวและพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อขยายพิสัยในการรับรู้และขยายกรอบความคิด ในการวิเคราะห์กระบวนการ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากตัวแปรเศรษฐกิจอาจมีความซับซ้อน ละเอียดอ่อน หรือมีความคาบเกี่ยวกับตัวแปรทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองยิ่งขึ้น จึงต้องอาศัยโลกทัศน์ที่กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อจะรู้เท่าทันสถานการณ์และปรากฎการณ์ใหม่ๆในระบบเศรษฐกิจและสังคม และยิ่งในยุคสมัยที่ระบบเศรษฐกิจโลกมีความเชื่อมโยงกันมากจนแทบจะเป็นระบบเศรษฐกิจที่ไร้พรมแดน ซึ่งมีขนาดและความซับซ้อนมากเกินกว่าที่คลังข้อมูลเศรษฐกิจและการเงินของ ธปท. เพียงที่เดียวจะสามารถเก็บรวบรวมสถิติทุกอย่างไว้ได้หมดครบถ้วน ธปท. จำเป็นต้องรู้ช่องทางเข้าถึงโลกแห่งข้อมูลที่กระจายอยู่ทั่วทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เผยแพร่ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตสากล

ท่านผู้มีเกียรติ

ทุกวันนี้ คงไม่ผิดหากจะยกให้อินเตอร์เน็ต เป็นฐานข้อมูลและเครือข่ายข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลก และอาจจะกล่าวได้ในที่สุดว่า สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการสร้างคลังข้อมูลขึ้นมาเอง คือ การกำหนดกลยุทธ์เพื่อเปิดรับและเข้าถึงเครือข่ายฐานข้อมูลในโลกอื่นๆ ที่จะมีนัยสำคัญต่อศักยภาพของการดำเนินงานขององค์กร และกลยุทธ์นี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกองค์กรสถิติที่ช่วยเหลือร่วมมือกัน ในการสร้างเครือข่ายคลังข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกัน

อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทราบว่าแผนแม่บทไอซีที ฉบับที่ 2 ได้เน้นความสำคัญของการยกระดับความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ ให้เพียงพอและทั่วถึง โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยขึ้นอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาด้านไอซีทีสูงสุด 25% (Top Quartile) ของประเทศที่มีการจัดลำดับทั้งหมดใน Networked Readiness Index และเช่นเดียวกัน สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการอย่างยิ่ง คือ การยกระดับ e-government ให้ทัดเทียมกลุ่มประเทศใน Top 20 countries รวมไปถึงการเชื่อมโยงระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ของภาครัฐ และการสร้างมาตรฐานข้อมูลสถิติเพื่อบูรณาการ การใช้ข้อมูลที่จัดเก็บโดยหน่วยงานสถิติทั้งประเทศตามแผนแม่บทระบบสถิติของประเทศ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานราชการและต่อธนาคารกลางด้วย ในการวางแผนดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ

ทางด้านระบบการชำระเงิน และภาคธุรกิจการเงินซึ่งพึ่งพาเทคโนโลยีไอซีทีอย่างเข้มข้นที่สุด ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ฉบับที่ 2 และแผนแม่บทการพัฒนาตลาดทุนได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบข้อมูล และการใช้ประโยชน์ไอซีทีไว้เป็นอันมาก อาทิ ระบบสารสนเทศตราสารการเงิน ระบบธนาคารอิเล็คทรอนิกส์ (e-banking) ระบบซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ เป็นต้น ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น มีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ข้อหนึ่ง คือ การเป็นธนาคารกลางชั้นนำทันสมัยในภูมิภาค ด้วยเหตุที่ ประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และต่อการจัดการนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าระดับความพร้อมในเรื่องคลังข้อมูลสถิติ และความชำนาญในการใช้ประโยชน์ไอซีทีจะมีส่วนสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ท่านผู้มีเกียรติ

ผมเข้ามาที่ ธปท.ในครั้งนี้ ได้วางตัวว่าจะเป็น non-executive และช่วยทำให้ ธปท. เดินได้อย่างเดิม เพราะเท่าที่ทำมาระยะหลัง โดยเฉพาะ Inflation targeting ก็ทำได้ดีอยู่ และตั้งใจไม่ให้ผู้บริหารระดับสูงเดินกันคนละทิศทาง ถ้าคิดอะไรเห็นอะไรก็จะใช้วิธีกล่าวชี้นำไว้ให้คิดกันเอง

ธปท. มีบุคลากรที่ไม่อยู่ในสายงานหลักมากเหลือเกิน ใน 3,900 คน มีคนอยู่หยิบมือเดียว ที่ใน 20 - 30 ปีข้างหน้าจะขึ้นมาเป็นผู้ว่าการได้ถ้าคนนอกเขาไม่แย่งมาเป็นเสียก่อน องค์กรแบบนี้มีความไม่สบายใจของแทบทุกคน แทบทุกคนอยากเป็น NO.1 ในองค์กรของตน วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหานี้คือ ทุกอย่างที่คิดจะทำ ทุกอย่างที่คิดจะมี ประเมินเสียก่อนว่ามีคนอื่น หน่วยงานอี่นนอกจากธนาคารแห่งประเทศไทยทำได้หรือเปล่า ถ้ามีก็ให้เขาทำ ถ้าไม่มีแต่ควรมีก็ช่วยจัดให้คนอื่นทำ และงานที่มีอยู่แล้ว ก็ประเมินเสียว่ามีคนอื่นทำได้หรือเปล่า แล้วเลิกทำและให้คนอื่นทำ หรือจัดให้เขาทำได้

ที่กล่าวมานั้นก็เป็นหลักการในการบริหารองค์กรทั่วไป สำหรับท่านผู้ว่าการคนใหม่นั้น ไม่ต้องห่วงในเรื่องนโยบายการเงิน เพราะท่านเก่งมีความสามารถในด้านนี้อยู่แล้ว แต่ก็อยากจะขอฝากให้ช่วยดูแลเรื่องนโยบายบุคลากรให้ดีเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในอนาคต

ขอบคุณครับ

(*1) Report on Observation of Standard and Code (ROSC) หมายถึง รายงานผลการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล โดยในปี พ.ศ. 2548 องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ทำการประเมินคุณภาพข้อมูลครอบคลุมถึงปัจจัยพื้นฐานด้านกฎหมายและธรรมาภิบาลที่ส่งเสริมให้เกิดคุณภาพข้อมูลสถิติเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทย ทั้งนี้ สถิติที่ ธปท. เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำ คือ สถิติดุลการชำระเงิน ได้รับการประเมินในระดับดี (Largely Observed) ในขณะที่สถิติการเงินได้รับการประเมินในระดับดีมาก (Observed)

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ